วันพุธที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2556

ชีววิถี 6 กำหนดภพชาติหน้าจริงหรือ ???




ถอดความจากภาพบน

บุคคลใดได้กระทำอกุศลกรรมไว้ จิตหรือวิญญาณของผู้นั้นจับอารมณ์หรือรู้สึกไปในอกุศลที่ตนเองได้กระทำในชั่วขณะใกล้จะตาย จะผลักดันให้จิตไปสู่ทุคติภูมิ หรือชีววิถี 6 ซึ่งเป็นหนทางที่จิตวิญญาณออกจากร่างไปสู่การเวียนว่ายตายเกิด อันได้แก่
       
1.จิตวิญญาณออกทาง กระหม่อม จะถือกำเนิดเป็น มนุษย์ผู้มียศถาบรรดาศักดิ์ (เทพเทวา, คนร่ำรวย) ขณะมีชีวิตอยู่ชอบสร้างบุญกุศล มีคุณธรรมและเป็นลูกกตัญญู

2.จิตวิญญาณออกทาง สะดือ จะถือกำเนิดเป็น มนุษย์หาเช้ากินค่ำ (คนยากจน) ขณะมีชีวิตอยู่ไม่ชอบสร้างบุญกุศล แต่ก็ไม่ได้สร้างบาปหนัก

3.จิตวิญญาณออกทาง หู จะถือกำเนิดเป็น สัตว์ตั้งท้องทุกประเภท (ช้าง ม้า วัว ควาย) พวกที่ชอบฟังเรื่องราวไม่ดีต่างๆ รวมทั้งคนที่คดโกงและเนรคุณคน

4.จิตวิญญาณออกทาง จมูก จะถือกำเนิดเป็น แมลงทุกประเภท (มด ปลวก แมลง) พวกที่ติดในของหอมต่างๆ สูบบุหรี่หรือเสพสิ่งเสพติดทั้งหลาย

5.จิตวิญญาณออกทาง ตา จะถือกำเนิดเป็น สัตว์ตั้งไข่ทุกประเภท (นก กา เป็ด ไก่) พวกที่หลงในกามคุณมากเกินไป ตาชอบมองในสิ่งที่ไม่ดีต่างๆ

6.จิตวิญญาณออกทาง ปาก จะถือกำเนิดเป็น สัตว์น้ำทุกประเภท (กุ้ง หอย ปู ปลา) พวกที่ชอบพูดจาให้ร้ายผู้อื่น พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ พูดโกหกต่างๆ

_________________________________________

อธิบาย


ชีววิถี 6 คือประตูกำหนดภพชาติหน้าจริงหรือ ??? 

จากเรื่อง ชีววิถี 6 ที่ลัทธิอนุตตรธรรมได้แต่งขึ้นใหม่ซึ่งก็เคยได้ชี้แจงไปเมื่อตอนที่แล้วว่าเรื่องนี้ในทางพุทธศาสนาถือว่าเป็นเพียง อายตนะ เท่านั้นไม่ไช่ทางออกตอนตายอย่างที่ลัทธิโกหกขึ้นมา แต่กระนั้นลัทธินี้ยังมีความเชื่อผิด ๆ ที่มากกว่านั้นโดยเชื่อว่า ชีววิถี 6 เป็นตัวกำหนดสิ่งที่จะไปเกิดในภาพชาติข้างหน้าโดยแต่ละช่องทางนั้นได้กำหนดสิ่งที่จะเป็นในภพชาติหน้าไว้แล้ว....ซึ่งต้องกล่าวยืนยันอีกครั้งว่า ชีววิถี 6 นั้นยังไม่ไช่สิ่งที่จะกำหนดความเป็นไปในภพหน้า

ความเชื่อนี้เป็นความเชื่อที่ผิดเพราะในทางพุทธศาสนาแล้ว สังสารวัฏการเวียนว่ายตายเกิดล้วนตกอยู่ภายใต้พระไตรลักษณ์ย่อมไม่มีสิ่งใดแน่นอน ไม่มีใครเป็นเจ้าของและไม่มีใครไปกำหนดกฏเกณฑ์ได้ แต่ทุกอย่างนั้นพุทธศาสนาสอนว่า ล้วนเกิดขึ้นเพราะมีเหตุปัจจัย เพราะฉะนั้นจึงได้ชี้แจงในเรื่องของ กรรม ไว้อย่างชัดเจน เนื่องจาก กรรม เป็นตัวแปรสำคัญที่นำพาไปเกิดยังภพต่าง ๆ ที่แตกต่างกันไปโดยได้อธิบายเรื่องของกรรมที่จะนำไปเกิดดังนี้


กรรม 12 ประการแบ่งเป็น 3 หมวดดังนี้

หมวดที่ ๑. กรรมที่ให้ผลตามกาล มี ๔ อย่าง
๑.๑ ทิฏฐฏธรรมเวทนียกรรม กรรมที่ให้ผลในชาตินี้
๑.๒ อุปปัชชเวทนียกรรม กรรมที่ให้ผลในชาติหน้า
๑.๓ อปราปรเวทนียกรรม หรือ อปรปริยายเวทนียกรรม กรรมที่ให้ผลในชาติต่อ ๆ ไป
๑.๓ อโหสิกรรม กรรมที่ให้ผลเสร็จแล้ว (เลิกให้ผล)

หมวดที่ ๒. กรรมที่ให้ผลตามหน้าที่ มี ๔ อย่าง
๒.๑ ชนกกรรม กรรมแต่งให้เกิด
๒.๒ อุปัตถัมภกกรรม กรรมสนับสนุน
๒.๓ อุปปีฬกกรรม กรรมบีบคั้น
๒.๓ อุปฆาตกรรม กรรมตัดรอน

หมวดที่ ๓. กรรมที่ให้ผลตามแรงหนักเบา มี ๔ อย่าง
๓.๑ ครุกรรม กรรมหนัก
๓.๒ พหุกรรม หรือ อาจิณกรรม กรรมที่ทำจนเคยชิน
๓.๓ อาสันกรรม หรือ ยาสันนกรรม กรรมเมื่อจวนเจียนจะตาย ระลึกเมื่อก่อนตาย
๓.๔ กตัตตากรรม หรือ กตัตตาวาปนกรรม กรรมสักแต่ว่าทำ

(นิทานสูตร , อัง.ติก. และวิสุทธิมรรค)


ขอขยายความเพิ่มเติมจากกรรม 12 ดังนี้

กรรมให้ผลตามกาล ๔ ประการ

๑. ทิฏฐกรรมเวทนียกรรม กรรมที่ให้ผลในชาตินี้ ได้แก่กรรมทุกประเภทที่ผู้ทำทำแล้ว ย่อมมีหวังว่าจะต้องได้รับผลในชาตินี้ คือไม่ต้องรอให้ตายไปเกิดอีกในชาติต่อไป กรรมประเภทนี้มีทั้งเป็น กรรมรุนแรงอย่างตำราว่าไว้ และกรรมที่มีกำลังไม่รุนแรง...อนึ่ง แม้กรรมไม่หนักหนาอะไร ก็ให้ผลในชาตินี้ได้เหมือนกัน เพราะตัวประกอบที่จะก่อให้เกิดผล ไม่ได้ขึ้นอยู่กับกรรมชนิดนั้น ๆ อย่างเดียว แต่ตัวบุคคลนั้นเองมีความสำคัญเป็นตัวบันดาลให้กรรมมีผลในชาตินี้ หรือชาติหน้า...โปรดพิจารณาพระพุทธพจน์ ต่อไปนี้

"ภิกษุทั้งหลาย บางคนทำบาปกรรมเพียงเล็กน้อย บาปกรรมนั้นนำเขาไปสู่นรก บางคนทำบาปเพียงเล็กน้อยเช่นนั้นเหมือนกัน แต่บาปกรรมนั้น ให้ผลเพียงในชาติปัจจุบันนี้เท่านั้น ไม่ปรากฏผลอีกต่อไป"

"บุคคลเช่นไร ทำบาปเพียงเล็กน้อย แต่บาปนั้นให้ผลอันแสบเผ็ดเพียงในชาติปัจจุบันแล้วไม่ให้ผลอีกต่อไป ? คือ บุคคลผู้ได้อบรมกายแล้ว อบรมศีล อบรมจิต อบรมปัญญา มีคุณธรรมมาก มีใจใหญ่ อยู่ด้วยคุณมีเมตตาเป็นต้น อันหาประมาณมิได้

บุคคลเช่นไร ทำบาปเพียงเล็กน้อย แล้วไปนรก ? คือ บุคคลผู้มิได้อบรมกาย มิได้อบรมศีล มิได้อบรมจิต มิได้อบรมปัญญา มีคุณธรรมน้อย ใจต่ำ บุคคลเช่นนี้แหละ ทำบาปเพียงเล็กน้อยแล้วไปนรก"

(โลณกสูตร อัง. ติก.)

๒. อุปปัชชเวทนียกรรม กรรมให้ผลในชาติหน้า ท่านแสดงว่าได้แก่ กรรมหนักทั้งฝ่ายดี และฝ่ายชั่ว เพราะกรรมหนักที่บุคคลกระทำแล้วย่อมไม่มีกรรมอื่นขวางทางแซงลำดับในการให้ผลได้ แก้ไขโดยประการใดๆ ให้เป็นตรงกันข้ามไม่ได้ เช่น ผู้ได้ฌานในขณะตายฌานไม่เสื่อม พยากรณ์ได้แน่นอนว่า ชาติหน้าเขาต้องได้ไปเกิดในพรหมโลก ไม่มีกรรมชั่วอื่นมาแซงให้ผลก่อนได้แน่ ตรงกันข้าม ผู้ที่ทำอนันตริยกรรมไปแล้ว แม้จะทำความดีเท่าไร ๆ เพียงใดก็ตาม ก็หมดหนทางที่จะได้ไปเกิดในสวรรค์ในชาติหน้า ถัดจากชาตินี้ ไม่ผิดเพี้ยน...

๓. อปราปรเวทนียกรรม กรรมให้ผลในชาติต่อ ๆ ไป ได้แก่กรรมที่เบาหน่อย จะไม่สามารถให้ผลเร็ว ต้องรอไปในชาติที่ ๒ (ต่อจากชาติหน้า) และอาจเป็นกรรมหนักก็ได้ สำหรับผู้ทำกรรมหนัก แน่นอนต้องได้รับผลกรรม หรือใช้เวรใช้กรรมหลายชาติ (ไม่ใช่ชาติเดียว) ส่วนกรรมที่มีแรงเบาหน่อย ก็มักถูกกรรมหนักกว่าให้ผลแซงหน้า การแซงให้ผลผิดลำดับเป็นอิทธิพลของกรรมหนัก กรรมที่ไม่มีกำลังแรงจึงต้องรอโอกาสที่จะให้ผลในชาติต่อ ๆ ไป เว้นแต่กรรมนั้นเป็นอาสันนกรรม แม้จะเป็นกรรมเบา แต่ก็แซงออกหน้า ให้ผลก่อนได้...

๔. อโหสิกรรม กรรมให้ผลเสร็จแล้ว (ยกเลิกแล้ว) ได้แก่กรรมที่ไม่สามารถจะให้ผลตามเวลาที่กำหนดไว้ เช่นคนทำลายชีวิตผู้อื่นไว้มาก มีกำหนดว่าจะต้องไปตกนรกหมกไหม้ในชาติหน้า แต่เงื่อนไขนี้ถูกยกเลิกเสีย เพราะคนที่ทำให้กรรมนั้น ไม่เกิดในชาติหน้า และชาติใด ๆ ด้วยเหตุที่ได้บรรลุธรรมชั้นสูงสุดเป็นพระอรหันต์ ไม่มีกิเลส เหตุแห่งการเวียนว่ายตายเกิดอีกแล้ว กรรมคือ การฆ่าเขาจึงเป็นกรรมชนิดที่ ๔ คือ อโหสิกรรม...

...อนึ่ง กรรมที่มีกำลังอ่อน มักจะกลายเป็นอโหสิกรรมได้ ตัวอย่างเช่น เราก่อความลำบากให้แก่ผู้อื่นแล้ว เราสำนึกผิดขอความกรุณาอย่าเอาโทษ ผู้นั้นยอมให้อภัยแก่เรา ไม่เอาความ ไม่เอาโทษเรา ... ไม่เป็นเวรต่อกันในภายหน้า แต่ไม่พึงประมาทว่า กรรมเล็กน้อยจะเป็นอโหสิกรรมง่าย ๆ

กรรมให้ผลตามหน้าที่ ๔ ประการ

๕. ชนกกรรม กรรมแต่งให้เกิด คือกรรมที่สามารถยังผู้ทำผู้เคลื่อนจากภพหนึ่งแล้วให้ถือปฏิสนธิในภพอื่น ท่านจึงเรียกว่าชนกกรรม เปรียบเหมือนบิดาผู้ให้กำเนิดบุตร ดังที่สอนว่า

กมฺมํ เขตฺตํ กรรมเป็นเนื้อนา วิญฺญาณํ พีชํ วิญญาณ เป็นพืชพันธ์
ตณฺหา สิเนหํ ตัณหาเป็นยางเหนียวในพืช

อนึ่ง กุศล และอกุศลที่นำปฏิสนธิให้บังเกิดในชาติหนึ่ง สองชาติ มิได้ให้ผลในโอกาสหลังจากปฏิสนธิแล้ว คือช่วยเฉพาะแต่ในการปฏิสนธิเท่านั้น กรรมนี้ อาจเปรียบเหมือนมารดาให้กำเนิดบุตรก็ได้ แต่มารดาคนนี้ มีหน้าที่เดียวคือให้เกิด ไม่มีหน้าที่จะเลี้ยงดูถนอมรักษาทารก...

๖. อุปัตถัมภกกรรม กรรมสนับสนุน ได้แก่กรรมที่รับช่วงมาจากกรรมชนิดที่ ๕ กล่าวคือ ชนกกรรม นำให้เกิดอย่างเดียวไม่เลี้ยงดู..ต่อไป ส่วนอุปัตถัมภกกรมนี้ เลี้ยงดู... ไม่ได้ทำให้เกิด ท่านจึงเปรียบเหมือนแม่นมหรือพี่เลี้ยง

ถ้ากรรมแต่งให้เกิด นำมาเกิดในกำเนิดดี กรรมสนับสนุนก็รับหน้าที่อุปถัมภ์ค้ำชูเด็กที่เกิดนั้นให้ความสุขยิ่งขึ้น ๆ ให้มีความเจริญ รุ่งเรืองต่อไป เข้าทำนอง โชติ โชติปรายโน รุ่งเรืองมา รุ่งเรืองไป แต่ถ้ากรรมแต่งให้เกิดนำมาเกิดในกำเนิดทราม กรรมสนับสนุนนี้ก็ยิ่งยุยงส่งซ้ำ เด็กที่เกิดมาให้ย่ำแย่มืดมนหม่นหมองยิ่งขึ้น เข้าลักษณะว่า ตโมตมปรายโน มืดมามืดไป

๗. อุปปีฬกกรรม กรรมบีบคั้น ได้แก่กรรมที่เป็นฝ่ายตรงกันข้าม(ข้าศึก) กับชนกกรรม คือ ถ้าชนกกรรมแต่งให้เกิดในกำเนิดที่ดี อุปปีฬกกรรม จะบีบคั้นมิให้บุคคลนั้นได้ดีเต็มที่ คือ กลับดี เป็นร้าย เข้าลักษณะว่า "โชติ ตมปรายโน รุ่งเรืองมา กลับมืดไป" ถ้าชนกกรรมเป็นฝ่ายแต่งให้เกิดในกำเนิดที่ต่ำทราม อุปปีฬกกรรมฝ่ายกุศลก็เข้าไปบีบคั้นให้ดีขึ้นมาบ้าง เข้าลักษณะว่า "ตโม โชติปรายโน มืดมา กลับรุ่งเรืองไป" กรรมนี้บีบคั้นผลของอุปัตถัมภกกรรมก็ได้ เช่นเดียวกันกับที่บีบคั้นผลของชนกกรรม...

๘. อุปฆาตกกรรม กรรมตัดรอน ได้แก่กรรมที่มีพลังแรงมากกว่ากรรมชนิดที่ ๗ แต่เป็นกรรมที่มีลักษณะเดียวกัน คือมีลักษณะตรงกันข้ามกับชนกกรรม และอุปัตถัมภกกรรมในขณะที่กรรมอื่น ๆ กำลังให้ผลอยู่ กรรมชนิดนี้จะเข้าตัดรอน และให้ผลชนิดหน้ามือเป็นหลังมือทีเดียว ทำให้กรรมเก่าที่ให้ผลอยู่ก่อน พ่ายแพ้แรงกรรม และหมดอำนาจไป แล้วเริ่มให้ผลแทนเสียเอง...

กรรมที่ให้ผลตามแรงหนักเบา ๔ ประการ

๙. ครุกรรม กรรมหนัก ได้แก่กรรมทั้งที่เป็นฝ่ายกุศล และอกุศล ซึ่งต้องใช้ความพยายามมากในการกระทำ อาศัยเจตนารุนแรง ทำได้ยาก พระพุทธศาสนาได้กำหนดครุกรรมไว้ ทั้งฝ่ายดี และฝ่ายชั่ว คือ

ครุกรรมฝ่ายชั่ว ได้แก่ อนันตริยกรรม ๕

๑. มาตุฆาต ฆ่ามารดา
๒. ปิตุฆาต ฆ่าบิดา
๓. อรหันตฆาต ฆ่าพระอรหันต์
๔. โลหิตุปบาท ทำร้ายพระพุทธเจ้าถึงยังพระโลหิตให้ห้อขึ้นไป
๕. สังฆเภท ยังสงฆ์ให้แตกจากกัน (ครุกรรมสำหรับพระสงฆ์เท่านั้น)

กรรม ๕ อย่างนี้ เป็นบาปอันหนักที่สุด ห้ามสวรรค์ ห้ามนิพพาน ตั้งอยู่ในฐานปราชิกของผู้ถือพระพุทธศาสนา ห้ามไม่ให้ทำเด็ดขาด

ครุกรรมฝ่ายดี ได้แก่ การกระทำสมาธิจนได้ฌาณ ตั้งแต่ปฐมฌานเป็นต้นไป ภาษาพระอภิธรรม เรียกว่ามหัคคตกุศล ๙ ภาษาพระสูตรเรียกว่าสมาบัติ ๘ (รูปฌาณ ๔ อรูปฌาณ ๔) ครุกรรมดังกล่าว ต้องให้ผลก่อน และให้ผลตัดหน้ากรรมอื่น ๆ เที่ยงแท้ที่จะพยากรณ์ว่า ชาติหน้าจะไปเกิดทุคติ หรือสุคติ...

๑๐. พหลุกรรม บางทีเรียก อาจิณณกรรม ได้แก่กรรมที่ทำมาจนเคยชิน จึงตั้งเงื่อนไขว่า เมื่อครุกรรมไม่มีกรรมนี้ จะต้องให้ผลก่อนกรรมอื่น ๆ แปลว่า พหุลกรรม เป็นกรรมที่มีพลังแรงเป็นที่สองรองจากครุกรรม ยกตัวอย่าง ฆาตกรฆ่าคนตายศพแล้วศพเล่า ...เวรกรรมก็ต้องบันดาลผลให้เกิดแก่เขาทันตาเห็น และใช่แต่วิบากครั้งเดียวจะเพียงพอก็หามิได้ เขาถูกจองจำทำโทษหนัก ๆ ในชาตินี้แล้วยังไม่พอต้องถูกจองจำทำโทษในชาติต่อๆ ไป ซ้ำอีกด้วย

๑๑. อาสันนกรรม หรือ ยทาสันนกรรม กรรมเมื่อจวนเจียน (ใกล้ตาย) ได้แก่กรรมที่ ทำเมื่อใกล้ตาย หรือคิดผูกพันติดต่อในขณะตาย อธิบายว่า หมายถึงคุณภาพของจิตที่เกิดขึ้นในขณะที่จวนจะตาย ตัวอย่างเช่น คนที่มีจิตใจเศร้าหมอง ตอนจวนจะตาย แต่ในขณะนั้นเกิดนึกถึงกุศลกรรมที่ตนเคยกระทำไว้ เกิดจิตแจ่มใสขึ้น คุณภาพของจิตเปลี่ยนจากร้ายเป็นดีทันที ถ้าจุติในขณะนั้น จุติจิตของเขาจะไปปฏิสนธิในกำเนิดที่ดีทันที แต่อย่างไรก็ตาม การกระทำกรรมในขณะจวนตายนั้น กระทำได้ยากยิ่ง เพราะผู้ตาย จะมีความรู้สึกนึกคิดอ่อนลงมาก และตกอยู่ใต้อำนาจของกรรมอื่น ๆ ที่กระทำไว้ก่อน จนไม่สามารถจะเปลี่ยนคุณภาพจิตของตัวเองได้ ฉะนั้น จึงเป็นการยากที่จะเปลี่ยนคุณภาพจิตในขณะที่ตาย

ท่านแสดงว่า ถ้าไม่มีพหุลกรรม แม้กรรมนี้ จะมีกำลังอ่อนมากก็ให้ผลได้ เปรียบดั่งโคที่แออัดอยู่ในคอก พอคนเลี้ยงโคเปิดประตูออก โคตัวที่อยู่ตรงประตู แม้จะอ่อนแอเพียงใด ก็ออกได้ก่อนโคที่แข็งแรงซึ่งอยู่ข้างใน กรรมชนิดนี้จึงมีความสำคัญมาก

๑๒. กตัตตากรรม กรรมสักแต่ว่าทำ คือ เจตนาไม่สมบูรณ์อาจทำด้วยความประมาท หรือรู้เท่าไม่ถึงกราณ์ สมเด็จพระมหาวีรวงค์ (พิมพ์ ธมฺมธโร) อธิบายว่า กรรมเล็กน้อย ที่ผู้ทำ ได้ทำลงไปด้วยไม่รูว่านี่บุญนั่นบาป เห็นเขาทำ หรือเขาพาทำ ก็ทำตามเขาไป เข้าลักษณะว่า "อสมฺปชานมูลกา เจตนา" คือเจตนามีความไม่รู้ว่านี่บุญนั่นบาปเป็นมูลฐาน กรรมนี้ เมื่อกรรมอื่นๆ ไม่มี จึงให้ผล แม้ผลที่กรรมนี้ให้ก็พอดีพอดร้าย อีกอย่างหนึ่ง กรรมนี้ได้แก่กรรมที่ผู้ทำมีเจตนาอย่างหนึ่งแต่ทำไปเกินเจตนา เช่น เจตนาเพียงเฆี่ยนตีเด็ก แต่เขาตายเพราะการเฆี่ยนตีนั้น ... และหมายถึง กรรมที่ไม่ได้วางแผนไว้ล่วงหน้า

กรรมประเภทนี้ อย่าพึงเข้าใจผิดว่าไม่สำคัญ หรือไม่บาป เพราะเป็นกรรมที่มีผล...พระพุทธองค์ทรงเตือนว่า "ภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนทำกรรมชั่วเพียงเล็กน้อย กรรมนั้นก็นำเขาไปนรกได้"

กรรมอย่างเดียวอาจมีหลายชื่อ

จากการเรียนรู้กรรม ๑๒ อาจทำให้ผู้ศึกษาสับสนมาก เพราะกรรมมีหลายชื่อหลายความหมาย กรรมบางอย่างมีหลายชื่อตามกาล หน้าที่ และความหนักเบา เหมือนบุคคลคนเดียวมีหลายชื่อตามหน้าที่ และ ลักษณะงาน เช่น เป็นบิดา เป็นนักมวย... ข้อนี้ฉันใด เรื่องกรรมก็เหมือนกัน

ตัวอย่างการฆ่าบิดา

๑. จัดเป็นครุกรรม
๒. จัดเป็นทิฏฐธรรมเวทนียกรรม เพราะได้รับผลกรรมทันตาเห็น
๓. เป็นอุปปัชชเวทนียกรรม เพราะชาติหน้าจะต้องไปตกนรกทุคติวินิบาต
๔. เป็นอปราปรเวทนียกรรม เพราะชาติต่อ ๆ ไปกรรมนั้นยังให้ผลอยู่ ต้องเดือดร้อนเพราะกรรมนั้นอีกซ้ำ ๆ ซาก ๆ
๕. เป็นอโหสิกรรม เพราะเมื่อได้รับผลกรรมจนเหมาะสมแก่กรรมแล้วหลายชาติ มีการทำความดี เพิ่มพูนคุณธรรมสูงสุด ได้บรรลุ เป็นพระอรหันต์

กรรมชนิดเดียว อาจให้ผลหลายครั้ง เพราะเป็นกรรมแรงผู้ทำกรรมชั่ว ไม่พึงดีใจว่าได้รับโทษทัณฑ์ในชาตินี้แล้วก็หมดเรื่องหมดเวรกรรมแล้ว

กรรมที่ยังไม่ให้ผล อาจทำให้ผู้ทำกรรมเข้าใจว่าหมดกรรมแล้ว แต่แท้จริง ยังไม่หมด กรรมนั้นซ่อนพลังความชั่วหรือความดีอยู่ได้ คือ กรรมสั่งสมอยู่ในจิตใจของตน เมื่อสั่งสมมาก ๆ เข้า ถึงเวลาก็ให้ผลเสียทีหนึ่ง ถ้าเป็นกรรมชั่ว วิบากชั่วที่มีอยู่ในสันดาน จะเป็นสิ่งบันดาลใจให้บุคคลนั้น พูดคิดหรือทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง อันนำพาให้เกิดผลร้ายเป็นภัยอันตรายแก่ผู้ทำกรรมนั้น ๆ บางทีวิบากกรรมส่งความตายมาให้ ดังที่เรียกว่า ยมทูต ดลจิตใจให้ประสบวิบัติในรูปลักษณ์ต่าง ๆ โดยไม่รู้ตัว

คัดลอกบางส่วนจาก: เสียงธรรมจากศาลาพระราชศรัทธา
รวมงานเผยแพร่ประจำปี พ.ศ. ๒๕๔๓ เล่มที่ ๑


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น