วันจันทร์ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2556

ชีววิถี 6 ประตูโกหกของลัทธิอนุตตรธรรม


ภาพบน^^ภาพจากหนังสือของลัทธิอนุตตรธรรมเรื่อง "ไตรรัตน์" หน้า16
จากภาพได้พูดถึงประตูของวิญญาน 6 ช่องทาง

ภาพบน^^ลัทธิอนุตตรธรรมได้อธิบายถึงประตูทางออกของวิญญานทั้ง6ช่องทาง

ถอดความจากภาพบน
บุคคลใดได้กระทำอกุศลกรรมไว้ จิตหรือวิญญาณของผู้นั้นจับอารมณ์หรือรู้สึกไปในอกุศลที่ตนเองได้กระทำในชั่วขณะใกล้จะตาย จะผลักดันให้จิตไปสู่ทุคติภูมิ หรือชีววิถี 6 ซึ่งเป็นหนทางที่จิตวิญญาณออกจากร่างไปสู่การเวียนว่ายตายเกิด อันได้แก่
       
1.จิตวิญญาณออกทาง กระหม่อม จะถือกำเนิดเป็น มนุษย์ผู้มียศถาบรรดาศักดิ์ (เทพเทวา, คนร่ำรวย) ขณะมีชีวิตอยู่ชอบสร้างบุญกุศล มีคุณธรรมและเป็นลูกกตัญญู

2.จิตวิญญาณออกทาง สะดือ จะถือกำเนิดเป็น มนุษย์หาเช้ากินค่ำ (คนยากจน) ขณะมีชีวิตอยู่ไม่ชอบสร้างบุญกุศล แต่ก็ไม่ได้สร้างบาปหนัก

3.จิตวิญญาณออกทาง หู จะถือกำเนิดเป็น สัตว์ตั้งท้องทุกประเภท (ช้าง ม้า วัว ควาย) พวกที่ชอบฟังเรื่องราวไม่ดีต่างๆ รวมทั้งคนที่คดโกงและเนรคุณคน

4.จิตวิญญาณออกทาง จมูก จะถือกำเนิดเป็น แมลงทุกประเภท (มด ปลวก แมลง) พวกที่ติดในของหอมต่างๆ สูบบุหรี่หรือเสพสิ่งเสพติดทั้งหลาย

5.จิตวิญญาณออกทาง ตา จะถือกำเนิดเป็น สัตว์ตั้งไข่ทุกประเภท (นก กา เป็ด ไก่) พวกที่หลงในกามคุณมากเกินไป ตาชอบมองในสิ่งที่ไม่ดีต่างๆ

6.จิตวิญญาณออกทาง ปาก จะถือกำเนิดเป็น สัตว์น้ำทุกประเภท (กุ้ง หอย ปู ปลา) พวกที่ชอบพูดจาให้ร้ายผู้อื่น พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ พูดโกหกต่างๆ

...................____________________________.......................

...อธิบาย...

ชีววิถี 6 ประตูโกหกที่เหลือ
ของลัทธิอนุตตรธรรม

สรุปว่า ประตูหรือทางออกของจิตวิญญาณเมื่อตายทั้งหมดของลัทธิอนุตตรธรรมนี้มีทั้งหมด 7 ช่องคือ

1- ประตูลับ 1 ช่องตรงกลางคิ้ว หรือที่เรียกว่า จุดญานทวาร ซึ่งจะเปิดทันทีเมื่อรับธรรมมะกับลัทธิ ซึ่งช่องนี้ลัทธิเขาถือว่าเป็นประตูนิพพาน
2- ประตูสำหรับคนธรรมดาที่ไม่ได้รับธรรมมะกับลัทธิ 6 ช่องได้แก่ หู ตา จมูก ปาก สะดือ กระหม่อม หรือที่ลัทธิเรียกว่าชีววิถี 6 ซึ่งช่องเหล่านี้จะเป็นตัวการนำไปเกิดยังภพต่าง ๆ เป็นสัตว์ที่แตกต่างกันไป 

เรื่องประตูลับกลางคิ้วนั้นได้กล่าวไปบ้างแล้วตอนนี้จะขอกล่าวถึงประตูที่เหลืออีก 6 ช่อง  ซึ่งเรื่อง ชีววิถี 6 นี้ก็เป็นอีกเรื่องที่ลัทธิแต่งขึ้นมาใหม่ไม่เคยมีสอนในศาสนาใด ๆ ทั้งสิ้น

แต่ถึงอย่างไรเรื่องช่องทางเหล่านี้ก็มีกล่าวในพุทธศาสนาเช่นกันเพียงแต่เป็นคนละเรื่องกันนะครับ   โดยในทางพุทธศาสนาแล้วช่องทางเหล่านี้มิได้เป็นตัวกำหนดว่าจะไปเกิดเป็นอะไรในภพหน้าแต่เป็นเพียง อายตนะเท่านั้นได้แก่ หู ตา จมูก ปาก  ส่วน สะดือและกระหม่อม จัดเข้าใน อายตนะ เช่นกันคือ กาย
  
แต่ไม่ว่าอย่างไรเราลองมาดู อายตนะและวิญญาณ ของจริงว่าพระพุทธเจ้าได้กล่าวว่าอย่างไร

อายตนะ 12 
คือสิ่งที่เชื่อมต่อกันให้เกิดความรู้ , แดนต่อหรือแดนเกิดแห่งความรู้ โดยแบ่งเป็น 2 ชนิดดังนี้

1 อายตนะภายใน 6 ได้แก่ 
จักขุ (จักษุ, ตา)
โสตะ (หู)
ฆานะ (จมูก)
ชิวหา (ลิ้น)
กาย (กาย)
มโน (ใจ)
ทั้ง 6 นี้ เรียกอีกอย่างว่า อินทรีย์ 6 เพราะเป็นใหญ่ในหน้าที่ของตนแต่ละอย่าง เช่น จักษุเป็นเจ้าการในการเห็น เป็นต้น

2 อายตนะภายนอก 6 
รูปะ (รูป)
สัททะ (เสียง)
คันธะ (กลิ่น )
รสะ (รส )
โผฏฐัพพะ (สัมผัสทางกาย)
ธรรม หรือ ธรรมารมณ์ (อารมณ์ที่เกิดกับใจ)
ทั้ง 6 นี้ เรียกทั่วไปว่า อารมณ์ 6 คือ เป็นสิ่งสำหรับให้จิตยึดหน่วง
(พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม)

การรับรู้จะเกิดขึ้นได้เมื่อวิญญาณเกิดขึ้น ซึ่งโดยปกติวิญญาณจะเกิดขึ้นเมื่อเกิดการกระทบกันระหว่างอายตนะภายนอกกับอายตนะภายใน แต่ในบางกรณีก็ไม่เกิดการรับรู้ เช่น ถูกสัมผัสขณะหลับ หรือมองสิ่งต่างๆ ขณะเหม่อลอย จะไม่เกิดการรับรู้ใดๆ การรับรู้จะเกิดขึ้นต่อเมื่อมีองค์ประกอบเกิดขึ้นครบทั้ง 3 อย่าง ได้แก่ อายตนะ อารมณ์ และวิญญาณ เรียกว่าผัสสะ หรือสัมผัส แปลว่า การกระทบ หรือหมายความว่า การบรรจบพร้อมกันแห่งอายตนะ อารมณ์ และวิญญาณ

เมื่อผัสสะเกิดขึ้น กระบวนการรับรู้ก็ดำเนินต่อไป เริ่มตั้งแต่ความรู้สึกต่ออารมณ์ที่รับรู้เข้ามานั้น การจำหมาย การคิดปรุงแต่ง ตลอดจนการแสดงออกต่างๆ ที่สืบเนื่องไปตามลำดับ ความรู้สึกต่ออารมณ์ที่รับรู้นี้เรียกว่า เวทนา แปลว่า การเสวยอารมณ์ หรือการเสพรสอารมณ์ คือ ความรู้สึกต่ออารมณ์ที่รับรู้เข้ามานั้นโดยเป็นสุขสบาย ไม่สบาย หรือเฉยๆ อย่างใดอย่างหนึ่ง โดยเวทนามีการเกิดตามช่องทางของอายตนะที่เกิดขึ้น เช่น เวทนาที่เกิดจากสัมผัสทางตา เวทนาที่เกิดจากการสัมผัสทางหู เป็นต้น ซึ่งสามารถจัดระดับเวทนาออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ สุข ทุกข์ อทุกขมสุข หรือถ้าจัดให้ละเอียดลงไปอีกก็จะได้ 5 ระดับ ได้แก่ สุข ทุกข์ โสมนัส โทมนัส และ อุเบกขา สามารถสรุปกระบวนการรับรู้ได้ดังนี้

กระบวนการรับรู้
อายตนะภายใน + อายตนะภายนอก + วิญญาณ = สัมผัส (ผัสสะ) → เวทนา

และยังขอหยิบเอาข้อความจากพระไตรปิฏกที่ได้กล่าวเรื่อง อายตนะและวิญญาณ ดังนี้

[๖๑๙] ก็ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า พึงทราบอายตนะภายใน ๖ นั่น เราอาศัยอะไรกล่าวแล้ว ได้แก่อายตนะคือจักษุ อายตนะคือโสต อายตนะคือฆานะ อายตนะคือชิวหา อายตนะคือกาย อายตนะคือมโน ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า พึงทราบอายตนะภายใน ๖ นั่น เราอาศัยอายตนะดังนี้ กล่าวแล้ว ฯ
[๖๒๐] ก็ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า พึงทราบอายตนะภายนอก ๖ นั่น เรา
อาศัยอะไรกล่าวแล้ว ได้แก่อายตนะคือรูป อายตนะคือเสียง อายตนะคือกลิ่น อายตนะคือรส อายตนะคือโผฏฐัพพะ อายตนะคือธรรมารมณ์ ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า  พึงทราบอายตนะภายนอก ๖ นั่น เราอาศัยอายตนะดังนี้ กล่าวแล้ว ฯ
[๖๒๑] ก็ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า พึงทราบหมวดวิญญาณ ๖ นั่น เราอาศัยอะไรกล่าวแล้ว ได้แก่จักษุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ มโนวิญญาณ ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า พึงทราบหมวดวิญญาณ ๖ นั่น เราอาศัยวิญญาณดังนี้ กล่าวแล้ว ฯ
(พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๖ สฬายตนวิภังคสูตร)

นอกจากนี้ยังมีในพระสูตรคือ อาทิตตปริยายสูตร ที่ได้กล่าวถึงว่าความรู้ที่เกิดจากอายตนะเหล่านี้ล้วนเป็นของร้อน เป็นทุกข์ไม่ควรยึดถือ และยังได้บอกถึงสิ่งที่ควรพิจารณาต่อสิ่งเหล่านี้ดังนี้

[๕๕] ครั้นพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ตำบลอุรุเวลา ตามพระพุทธาภิรมย์แล้ว เสด็จจาริกไปโดยมรรคาอันจะไปสู่ตำบลคยาสีสะ พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ๑๐๐๐ รูป ล้วนเป็นปุราณชฎิล. ได้ยินว่า พระองค์ประทับอยู่ที่ตำบลคยาสีสะ ใกล้แม่น้ำคยานั้น พร้อมด้วยภิกษุ
๑๐๐๐ รูป.

ณ ที่นั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลาย ว่าดังนี้:-
ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิ่งทั้งปวงเป็นของร้อน ก็อะไรเล่าชื่อว่าสิ่งทั้งปวงเป็นของร้อน?
ดูกรภิกษุทั้งหลาย จักษุเป็นของร้อน รูปทั้งหลายเป็นของร้อน วิญญาณอาศัยจักษุเป็นของร้อน สัมผัสอาศัยจักษุเป็นของร้อน ความเสวยอารมณ์ เป็นสุขเป็นทุกข์ หรือมิใช่สุขมิใช่ทุกข์ ที่เกิดขึ้นเพราะจักษุสัมผัสเป็นปัจจัย แม้นั้นก็เป็นของร้อน 
ร้อนเพราะอะไร? เรากล่าวว่า ร้อนเพราะไฟคือราคะ เพราะไฟคือโทสะ เพราะไฟคือโมหะ ร้อนเพราะความเกิด เพราะความแก่และความตาย ร้อนเพราะความโศก เพราะความรำพัน เพราะทุกข์กาย เพราะทุกข์ใจ เพราะความคับแค้น.
โสตเป็นของร้อน เสียงทั้งหลายเป็นของร้อน ...
ฆานะเป็นของร้อน กลิ่นทั้งหลายเป็นของร้อน ...
ชิวหาเป็นของร้อน รสทั้งหลายเป็นของร้อน ...
กายเป็นของร้อน โผฏฐัพพะทั้งหลายเป็นของร้อน ...
มนะเป็นของร้อน ธรรมทั้งหลายเป็นของร้อน วิญญาณอาศัยมนะเป็นของร้อน สัมผัสอาศัยมนะเป็นของร้อน ความเสวยอารมณ์เป็นสุข เป็นทุกข์หรือมิใช่ทุกข์มิใช่สุข ที่เกิดขึ้นเพราะมโนสัมผัสเป็นปัจจัย แม้นั้นก็เป็นของร้อน 
ร้อนเพราะอะไร? เรากล่าวว่า ร้อนเพราะไฟคือราคะ เพราะไฟคือโทสะ เพราะไฟคือโมหะ ร้อนเพราะความเกิด เพราะความแก่และความตาย ร้อนเพราะความโศก เพราะความรำพัน เพราะทุกข์กาย เพราะทุกข์ใจ เพราะความคับแค้น.

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้ฟังแล้วเห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในจักษุย่อมเบื่อหน่ายแม้ในรูปทั้งหลาย ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในวิญญาณอาศัยจักษุ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในสัมผัสอาศัยจักษุ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในความเสวยอารมณ์ ที่เป็นสุข เป็นทุกข์ หรือมิใช่ทุกข์
มิใช่สุข ที่เกิดขึ้นเพราะจักษุสัมผัสเป็นปัจจัย
ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในโสต ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในเสียงทั้งหลาย ...
ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในฆานะ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในกลิ่นทั้งหลาย ...
ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในชิวหา ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในรสทั้งหลาย ...
ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในกาย ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในโผฏฐัพพะทั้งหลาย ...
ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในมนะ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในธรรมทั้งหลาย 
ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในวิญญาณอาศัยมนะ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในสัมผัสอาศัยมนะ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในความเสวยอารมณ์ที่เป็นสุข เป็นทุกข์ หรือมิใช่ทุกข์มิใช่สุข ที่เกิดขึ้นเพราะมโนสัมผัสเป็นปัจจัย.

เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมสิ้นกำหนัด เพราะสิ้นกำหนัด จิตก็พ้น เมื่อจิตพ้นแล้ว ก็รู้ว่าพ้นแล้ว อริยสาวกนั้นทราบชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์ได้อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นอีกเพื่อความเป็นอย่างนี้ไม่มี. ก็แล เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสไวยากรณภาษิตนี้อยู่
จิตของภิกษุ ๑๐๐๐ รูปนั้น พ้นแล้วจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่น.
อาทิตตปริยายสูตร จบ
อุรุเวลปาฏิหาริย์ ตติยภาณวาร จบ.
(พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๔ อาทิตตปริยายสูตร)

เพราะฉะนั้นเรื่อง ชีววิถี 6 ของลัทธิอนุตตรธรรม จึงเป็นเพียงการแต่งเรื่องใหม่และบิดเบือนจากความจริงไปเท่านั้น ซึ่งเรื่องเหล่านี้ได้มีอธิบายไว้อย่างแจ่มแจ้งแล้วในพระพุทธศาสนาตามที่ได้กล่าวไปในเรื่อง อายตนะ 

อายตนะ เหล่านี้ยังมิไช่สิ่งที่จะกำหนดว่าภพหน้าจะต้องไปเกิดเป็นอะไร ซึ่งสิ่งที่จะนำไปเกิดยังภพต่าง ๆ จะได้มีการอธิบายต่อไป แต่ถ้ายังหลงว่าสิ่งนี้เป็นตัวเป็นตนก็คงหนีไม่พ้นภพชาติไปได้


อายตนะ ที่กล่าวมานี้มีการทำงานตลอดเวลานับจำนวนไม่ได้
มิไช่จะมีผลแค่ตอนตายตามที่ลัทธินี้โกหก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น