วันศุกร์ที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2556

ลัทธิเจเข้าทรงกับลัทธิอนุตตรธรรม(ตอน2)

ลัทธิเจเข้าทรงกับลัทธิอนุตตรธรรม(ตอน2)

ทางลัทธิ อนุตตรธรรม ย้ำนักหนาว่าการเข้าทรงในสถานธรรมของเขาเป็นของแท้เพราะมีแต่เฉพาะในลัทธินี้ไม่มีให้เห็นข้างนอกและไม่เคยมีปรากฏมาก่อนนั้นเป็นการอวดสรรพคุณที่ไม่จริงเพราะการเข้าทรงทุกรูปแบบที่มีในลัทธินี้ข้างนอกทั่วไปก็มีเช่นกันและมีมานานก่อนลัทธินี้จะเกิดด้วยซ้ำไป แต่ถ้าเป็นเข้าทรงกระบะทรายนั้นไม่ค่อยนิยมและมีน้อยและในเมืองไทยเราหลายคนอาจไม่เคยเห็นจึงดูแปลกใหม่แต่ต่างประเทศเช่นจีน เกาหลี ไต้หวัน เวียดนาม ฯลฯ นั้นเขามีมานานแล้ว (ประเทศไทยก็มีมานานเช่นกันแต่อาจจะไม่แพร่หลายนัก)  ดังจะขอเล่าอดีตความเป็นมาของลัทธิเจเข้าทรงดังนี้


ประเพณีของชาวกินเจของชาวจีนในประเทศไทยตลอดจนบางส่วนของประเทสมาเลเซีย ,สิงคโปร์ ,อินโดนีเซีย ,ไต้หวัน ฯลฯ ก็เป็นลัทธิเจอีกลัทธิหนึ่งในจำนวนหลากหลายลัทธิทั้งนี้ต้องเข้าใจองค์ประกอบของประเพณีกินเจคือประเพณีกินเจนั้นแบ่งออกเป็น ๒ ส่วนคือ ๑.ความเชื่อเรื่อง ๙ เทวดารา ,๗ พระพุทธเจ้า และ ๒ พระโพธิสัตว์ และ ส่วนที่ ๒ คือความเชื่อเรื่องการทรงเจ้า
ในส่วนนี้จะขอเล่าเฉพาะเรื่องทรงเจ้า  ความเชื่อเรื่องทรงเจ้าอันสามารถพบได้อย่างมากในภาคตะวันออก ,ภาคใต้ และจังหวัดชายฝั่งทะเลของประเทศไทยตลอดจนบางส่วนของประเทศมาเลเซีย ,สิงคโปร์ ,อินโดนีเซีย, ไต้หวัน ฯลฯ 
ซึ่งในประวัติศาสตร์เรียกลัทธินี้ว่า ลัทธิเจเข้าทรง



สาเหตุที่พบลัทธินี้ได้ในบริเวณดังกล่าวเพราะเป็นที่อยู่ของชาวฝูเจี้ยน(ฮกเกี้ยน)อพยพ มณฑลฝูเจี้ยนเป็นมณฑลที่ติดชายทะเลทั้งยังเป็นเขตเศรษฐกิจมาแต่โบราณ  ชาวฝูเจี้ยนเป็นชาวจีนกลุ่มแรก ๆ ที่เดินทางออกนอกประเทศจีนโดยทางเรือเพื่อแสวงหาโอกาสและที่ทางทำกินแหล่งใหม่ ๆ โดยเฉพาะบริเวณเอชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งรวมทั้งประเทศไทยด้วย  ด้วยเหตุทางด้านความเคยชินตลอดถึงการเดินทางที่จะเดินทางด้วยเรือ  ชาวฝูเจี้ยนจึงจิยมตั้งรกรากในสถานที่มีลักษณะคล้ายมณฑลฝูเจี้ยนแดนมาตุภูมิที่จากมาซึ่งก็คือบริเวณชายฝั่งนั่นเอง

ลัทธิเจเข้าทรง ถือกำเนิดในตอนกลางของราชวงศ์หมิง (ประมาณ พ.ศ.๒๑๐๐) ที่ภูเขาอูซัน (ปัจจุบันอยู่ในเขตฉงติ่งอยู่ในระหว่างรอยต่อของมณฑลซื่อฉวนหรือเสฉวนกับมณฑลหูเป่ย ) จึงมีอีกชื่อว่า สำนัก อูซันไพ่ หรือ อูไพ่ ลัทธินี้นับถือเทพกวนอูเป็นปรมาจารย์และยึดคัมภีร์ คูหานิรยะ (ต้งหมิงจี้) เป็นคัมภีร์สูงสุด


ขณะที่ศาสนาพุทธมีพระภิกษุ ศาสนาเต๋ามีนักพรตเป็นหลักศาสนา แต่ ลัทธิเจเข้าทรง ขับเคลื่อนความเชื่อของลัทธิด้วยร่างทรง ความเชื่อของลัทธินี้ในยามปกติจะมีคนทำหน้าที่ประกอบพิธีกรรมแต่เมื่อใดที่เทพเจ้ามาเข้าประทับในร่างของร่างทรงเมื่อนั้นร่างทรงจะไม่ไช่ตัวแทนของเทพเจ้าแต่จะมีฐานะเป็นเทพเจ้าเองโดยสมบูรณ์  และเมื่อมีสถานะเป็นได้ถึง พระเจ้า พระพุทธเจ้า โพธิสัตว์ และเทพเจ้าในศาสนาพุทธ เต๋าและขงจื่อ(ปัจจุบันพัฒนามากมีทั้งพระเยซู ,นบีโมฮัมหมัดและพระพุทธเจ้าองค์อื่น ๆ ) จึงมีฐานะสูงสุดไม่มีความจำเป็นต้องเคารพศรัทธาพระภิกษุในพุทธศาสนาหรือนักพรตเต๋าซึ่งมีฐานะแค่สาวกอีกต่อไป   


เนื้อหาของคัมภีร์ คูหานิรยะ(ต้งหมิงจี้)กล่าวถึงคำสอนของเทพกวนอูว่าโลกถึงยุคปลายมนุษย์มีความประพฤติทราม และกล่าวโจมตีภิกษุในพุทธศาสนา และนักพรตในศาสนาเต๋า ที่ต้องตกนรกมากมายจึงเป็นเหตุให้เกิดร่างทรงขึ้นเพื่อทำหน้าที่ช่วยเหลือมวลมนุษย์ให้พ้นจากความทุกยากซึ่งการอ้างชื่อกวนอูในรูปคำสอนของลัทธิยังพบเห็นได้ในปัจจุบันรวมทั้งในประเทศไทยด้วย


 เนื่องจากลัทธิเจเข้าทรง(สำนักอูซันไพ่) กำเนิดที่เขาอูซัน สถานที่ดังกล่าวถูกแวดล้อมไปด้วยชนเผ่าแม้ววิชาเวทมนต์ของสำนักอูซันจึงดูดซับวิชาไสยศาสตร์ของเผ่าแม้วมาผสมผสานกับลัทธิตนและพัฒนามาเป็นเอกลักษณ์ที่สำคัญของสำนักอูซัน

เผ่าแม้วนี้เป็นชนเผ่าเดียวกับชนเผ่าทิเบต ต่อมาอพยพลงใต้มาทางทณฑล ซื่อฉวน(เสฉวน),อวิ๋นหนาน(ยูนนาน),กุ้ยโจว,กว่างซี่(กวางสี),ไห่หนาน(ไหหลำ),หูหนาน,หูเป่ย,ฝูเจี้ยน(ฮกเกี้ยน)ฯลฯ ทั้งยังพบได้ประเทศพม่า,ไทย,ลาว,เวียดนาม,เกาหลี,ญี่ปุ่น ฯลฯ โดยมีการแตกออกเป็นหลายเผ่าหลายสาขา

วิชาเข้าทรงพบเห็นในลัทธิเจเข้าทรงไม่ว่าจะเป็นการเข้าทรง, บันไดมีด, ลุยไฟ ฯลฯ ล้วนเป็นวิชาที่รับมาจากเผ่าตระกูลแม้วทั้งสิ้น วัฒนธรรมเผ่าแม้วสามารถพบได้ทุกที่ ๆ คนเผ่าแม้วอาศัยอยู่ วิชาไสยศาสตร์ของเผ่าแม้วมีความเก่าแก่ไม่น้อยไม่ต่ำกว่า ๕๐๐๐ ปี เผ่าแม้วเป็นพวกนับถือผีซึ่งแม้แต่ชาวธิเบตเองก่อนที่จะมานับถือพุทธศาสนานิกายวัชรยานนั้นก็นับถือ ศาสนาบอนปะ มาก่อน  ศาสนาบอนปะเป็นพวกนับถือผีโดยการนับถือผีของชาวธิเบตนั้นปัจจุบันยังพบเห็นได้บางแห่ง  ซึ่งความจริงแล้วธรรมบาลในพุทธศาสนานิกายวัชรยานหลายองค์ แต่เดิมก็คือผีในศาสนาบอนปะนั่นเอง










ตามตำนานของชาวฮั่นเล่าว่าเมื่อ ผ่านกู่ เปิดฟ้าดินและเสียชีวีตลงร่างกายได้กลายเป็นแผ่นดินและภูเขาเลือดได้กลายเป็นสายน้ำส่วนหัวใจของผ่านกู่อยู่ทางภาคใต้ได้กลายเป็นวิชาไสยเวทย์ของเผ่าแม้วในที่สุด

การเข้าทรงเป็นวิชาอาคมที่สำคัญหนึ่งของเผ่าแม้วที่ใช้ติดต่อสื่อสาร ระหว่างโลกมนุษย์และโลกวิญญาณ โดยอาศัยสื่อกลางที่เรียกว่าร่างทรง ซึ่งโลกวิญญาณนั้นอาจหมายถึงเทพหรือผีก็ได้ในความจริงสถานะของเทพและผีในความเชื่อของเผ่าแม้วนั้นไม่ต่างกันนัก คนโบราณถือกันว่าเทพหรือผีต่างมีสถานะเป็นผีเหมือนกันหากแต่ เทพ ถือเป็นผีที่ศักสิทธิ์ โดยความเชื่อนี้ยังมีอยู่ถึงปัจจุบันดังกรณีของพญาแถนซึ่งจริง ๆ แล้วคนโบราณจะเรียกว่าผีแถนหรือผีฟ้าซึ่งในกรณีคนป่วยหรือถูกผีเข้าแล้วมีการเชิญผีฟ้ามาไล่ผีนั้น ก็คือการเชิญผีใหญ่มาไล่ผีเล็กนั่นเอง


โดยทั่วไปการเข้าทรงของเผ่าแม้วมี 3 ลักษณะดังนี้
1 การเข้าทรงผ่านร่างมนุษย์
2 การเข้าทรงผ่านวัตถุ
3 การเข้าทรงซากศพ

1-การเข้าทรงผ่านร่างมนุษย์

คือการติดต่อระหว่างโลกมนุษย์และโลกแห่งวิญญาณโดยอาศัยสื่อกลางที่เป็นมนุษย์เรียกว่า ร่างทรง ซึ่งวิญญาณจะไม่ได้มาสิงสู่หากแต่จะควบคุมร่างกายของร่างทรงไว้เพื่อเพื่อให้ขยับได้ตามต้องการเสมือนเป็นร่างของตนขณะเดียวกันก็ใช้พลังสะกดไม่ให้ดวงจิตเจ้าของร่างสามารถสั่งการได้ การเข้าทรงนี้จะไม่ได้ผลหากเจ้าของร่างมีจิตที่กล้าแข็งและต่อต้านดวงจิตที่มาจากภายนอก (รวมทั้งกรณีผีเข้าด้วย) อย่างไรก็ตามการเข้าทรงเองถือว่าผิดธรรมชาติ  ในโลกนี้ยังไม่มีการเข้าทรงที่สมบูรณ์แบบซึ่งอาการที่เข้าทรงไม่สมบูรณ์จะแสดงผลในลักษณะต่าง ๆ มีการสั่นของร่างกายตลอดจนแสดงกิริยาที่แปลกประหลาด นอกจากนั้นมนุษย์ที่เป็นร่างทรงนั้นหากประทับทรงบ่อย ๆ ร่างกายจะทรุดโทรมเนื่องจากการสูญเสียพลังแห่งชีวิตและอาจทำให้อายุสั้นได้ ทั้งนี้เพราะเมื่อเทพผีประทับทรงนั้นพลังชีวิตของร่างทรงจะใหลไปยังวิญญาณของผีที่มาอัตโนมัติซึ่งการใหลของพลังชีวิตนี้เป็นไปโดยธรรมชาติแม้ว่าเทพผีดังกล่าวจะไม่มีเจตตนาดูดพลังชีวิตของร่างก็ตาม ศาสนาเต๋าเชื่อว่ามนุษย์มีพลังหยางแต่วิญญาณที่มาประทับเป็นอิน (แม้ว่าจะเป็นเทพก็ตาม) ตามชาติของธาตุหยางย่อมไหลไปสู่ธาติอิน ซึ่งก็คือหลักการถ่ายเทพลังงานของวิทยาศาสตร์ที่ว่าอุณหภูมิสูงย่อมไหลไปสู่อุณหภูมิต่ำนั่นเอง




เทพผีที่มาประทับร่างนั้นมักจะใช้งานร่างเกินขีดจำกัดเพราะไม่ไช่ร่างของตน โดยธรรมชาติของมนุษย์จะมีจิตใต้สำนึกควบคุมร่างกายไม่ให้เกินขีดจำกัดไม่ให้ใช้งานร่างกายเกินกว่าที่มนุษย์จะพึงมีเพื่อรักษาร่างกายไม่ให้หักโหมจนเจ็บป่วยหรือประสบอุบัติเหตุ แต่ในกรณีที่มีการประทับทรงจิตใต้สำนึกจะถูกกดทับซึ่งร่างกายจะถูกใช้เกินความสามารถถือว่าอันตรายมาก
การเข้าทรงลักษณะนี้แพร่หลายและพบได้มากในปัจจุบันรวมทั้งประเทศไทย

2-การเข้าทรงผ่านวัตถุ

การเข้าทรงผ่านวัตถุ...คือการทรงโดยการเรียกวิญญาณมาสิงสู่ในวัตถุที่ต้องการวิธีการนี้พัฒนาไปเป็นวิชา ฝูจี(หู่กี) ของสำนักอูซัน และการเล่นผีถ้วยแก้วของชาวจีนระบุว่ามีมาไม่ต่ำกว่าสมัยราชวงศ์ซ่ง จากบันทึกระบุไว้ว่า แต่เดิมการทำพิธีนี้จะกระทำในเฉพาะคือของวันเทศกาลเหยวียนเซียว ตรงกับวัน 15 ค่ำเดือนอ้าย จันทรคติจีน โดยจะไปเชิญเทพ จื่อกูเสิน มาจากห้องน้ำหรือคอกหมู มาสถิตที่ไม้กี่ซึ่งแท้จริงแล้วก่อนที่จะพัฒนามาเป็นไม้กี่ในปัจจุบัน คนโบราณใช้ตะเกียบในการทำพิธีนี้

ความจริงแล้วความเชื่อเรื่อง จื่อกูเสิน นี้เป็นเทพ(ผี)ของเผ่าแม้วในเมืองเซียงซี เมืองหนึ่งในมณฑลหูหนาน โดยเชื่อกันว่าเป็นเทพประเภทเจ้าที่สถิตอยู่ตามห้องน้ำและคอกหมู ตามตำนานเล่าว่า จื่อกู เป็นสาวน้อยถูกคนริษยารังแกจนถึงแก่ความตายซึ่งในวัน 15 ค่ำเดือนอ้ายจันทรคติจีน ก็คือวันเสียชีวิตของจื่อกู เชื่อกันว่าจื่อกูมีญานหยั่งรู้อดีตปัจจุบันและอนาคต ในคือเทศกาลเหยวียนเซียวเพื่อรำลึกถึงการเสียชีวิตของจื่อกูจึงมีการประกอบพิธีฝูจี เชิญจื่อกูมาถามไถ่เรื่องราวโดยเมื่อสำนักอูซันรับวิชานี้มาเป็นของตนได้ปรับความเชื่อและรูปแบบของพิธีกรรมให้เป็นแบบลักษณะของตนและถอดความเชื่อเรื่อง จื่อกูเสิน ออกแล้วไส่เทพองค์อื่นเข้าไปแทนที่อย่างไรก็ตามในปัจจุบันบางแห่งทำพิธีฝูจีนี้ก็ยังสามารถเชิญ จื่อกูเสิน มาร่วมพิธีอยู่ ในประเทศไทยนอกจากจะมีการทำพิธีฝูจีในชุมชนชาวจีนบางกลุ่มแล้วในหมู่คนไทยยังมีการเข้าทรงประเภทนี้ด้วยดังเช่นการละเล่นผีนางด้ง   การเข้าทรงให้โอวาทกระบะทรายของลัทธิอนุตตรธรรมก็จัดอยู่ในประเภทนี้เช่นกัน









การเข้าทรงแบบนี้พอมีให้เห็นหลายแบบทั้งการเสี่ยงโชค การละเล่น หรือแบบอื่น ๆ แต่ถ้าเป็นเข้าทรงแบบที่ลงมาเขียนให้อ่านบนกระบะทรายหรือฝูจีนั้นในประเทศไทยอาจจะมีน้อยหลายคนอาจจะไม่เคยเห็น  เมื่อทางลัทธิอนุตตรธรรมนำมาใช้จึงเห็นเป็นเรื่องแปลกใหม่และน่าเชื่อถือ แต่ความจริงนั้นมีมานานแล้วแต่ว่าความแพร่หลายอาจจะน้อยกว่าแบบแรกคือไม่ค่อยมีนัก

ภาพที่เห็นทำให้ทราบว่า ฝูจี ในที่อื่น และการเข้าทรงเขียนกระบะทรายในลัทธิอนุตตรธรรมมันก็คือแบบเดียวกัน


การเข้าทรงกระบะทรายในลัทธิอนุตตรธรรมจะมีด้วยกัน 3 คนโดยมีกระบะทรายและ ไม้กี่ ที่ใช้เขียนคนที่ทรงจะไม่พูดสิ่งใดแต่เขียนลงในกระบะทราย อีกผู้หนึ่งเป็นคนอ่านและคอยลบ อีกผู้หนึ่งเป็นคนจดโอวาท


3-การเข้าทรงผ่านซากศพ
การเข้ัาทรงแบบนี้ไม่ไช่มีจริงไปทุกอย่างส่วนมากจะเป็นตำนานเท่านั้น แต่บางส่วนที่มีจริงก็มีอยู่แต่อาจพบเห็นน้อยมาก ในเมืองไทยไม่ทราบว่าจะมีหรือไม่

หลายคนฟังอาจสับสนแต่ความจริงแล้วคนส่วนมากพบเห็นวิชานี้ซึ่งนั่นก็คือ การเลี้ยงผีดิบ นั่นเอง ทว่าความเชื่อเรื่องการเลี้ยงผีดิบนี้เป็นไสยเวทย์ของชาวเผ่าแม้วคนจำนวนไม่น้อยเข้าใจผิดคิดว่าการเลี้ยงผีดิบเป็นวิชาของศาสนาเต๋าสำนักเหมาซัน ในข้อเท็จจริงสำนักเหมาซันไม่มีวิชาการเลี้ยงผีดิบอย่างไร อนึ่งความเชื่อเรื่องผีดิบที่แพร่หลายในโลกมากที่สุดมีอยู่ 2 สายคือ ชาวจีน และชาวตะวันตก(ถ้าไม่นับผีดิบของหมอผีวูดู) ผีดิบของชาวตะวันตกนั้นแท้จริงแล้วไม่มีอยู่จริง ความเชื่อเรื่องผีดิบของชาวตะวันตกเกิดขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2440 จากนวนิยายเรื่อง แดร๊กคิวล่า(Dracuala) ซึ่งประพันธ์โดย บราม สโทเคอร์(Bram Stoker) ซึ่งแดร๊กคิวล่าเป็นบุคคลที่มีจริงในประวัติศาสตร์แต่ไม่ได้เป็นผีดิบอย่างใด


ในโลกนี้ไม่มีสิ่งใดเป็นอมตะและสรรพชีวิตเมื่อตายแล้วย่อมไม่ฟื้นคืนไม่ว่ามีพลังเวทย์แก่กล้าแค่ไหนก็ไม่อาจทำให้สัตว์ที่ตายแล้วฟื้นคืนได้ วิชาการเลี้ยงผีดิบของเผ่าแม้วคือการให้วิญญาณคอยควบคุมศพให้เคลื่อนใหวไปตามที่หมอผีต้องการโดยที่วิญญาณที่ควบคุมร่างนั้นไม่จำเป็นต้องมีความสัมพันธ์กับร่างแต่อย่างใด (คือไม่ต้องเป็นเจ้าของร่าง) ซึ่งการควบคุมลักษณะนี้มีลักษณะเดียวกับการเข้าทรงผ่านมนุษย์แต่เนื่องจากไม่มีจิตใต้สำนึกของเจ้าของร่างคอยต่อต้านเนื่องจากเป็นศพที่ไร้วิญญาณแล้วการเข้าทรงผ่านซากศพจึงเกือบจะสมบูรณ์ ไม่มีการสั่นของร่างกายแต่อย่างใด โดยลักษณะของผีดิบนั้นใบหน้าและร่างกายจะซีดเผือดไร้ความรู้สึกไม่พูดจาหรือมีปฏิกิริยาโต้ตอบใด ๆ และไม่ต้องพักผ่อน ไม่ต้องนอนไม่ต้องรับประทานอาหาร นอกจากนั้นจะมีลักษณะทั่วไปเหมือนคนปกติทุกอย่าง ส่วนการยืดอายุศพให้เน่าช้าลงนั้นหมอผีเผ่าแม้วจะใช้สมุนไพรและยาพิษที่ได้จากพืชและสัตว์เพื่อให้ศพเน่าช้าลง (ซึ่งการใช้ยาสั่งในประเทศไทยนั้นก็เป็นวิชาการใช้สารพิษสาขาหนึ่งของเผ่าแม้ว)

ความเชื่อกันว่าหากโดนผีดิบกัดจะกลายเป็นผีดิบนั้น ความเชื่อนี้มาจากนวนิยายเรื่อง แดร๊กคิวล่า ซึ่งไม่ไช่เรื่องจริงแต่อย่างใดและการพบในภาพยนต์ว่าผีดิบจีนไปไหนมาไหนต้องกระโดดนั้นก็ไม่เป็นความจริงเพราะว่าการขนย้ายศพของเผ่าแม้วในสมัยก่อนนั้นจะมีการนำศพมายกแขนขึ้นตั้งฉากกับพื้นจากนั้นนำไม้ไผ่ 2 ลำมาผูกขนานกับแขนของศพทั้ง 2 ข้างโดยไม้ที่มีขนาดยาว 5 เมตรจะสามารถผูกศพในลักษณะนี้ได้ 4-5 ศพขณะที่เคลื่อนย้ายก็จะใช้คน 2 คน(คนจริง ๆ ที่ยังไม่ตาย) แบกไม้ไผ่หัวท้าย ขณะที่แบกนั้นน้ำหนักของศพทำให้ไม้ไผ่สปริงตัวขึ้นลงเมื่อมีคนเห็นจึงนำไปร่ำลือกันว่าผีดิบนั้นต้องกระโดดไปไหนมาไหนทั้งที่ผีดิบที่แท้จริงนั้นสามารถเดินได้ปกติไม่ต้องกระโดดแต่อย่างได
(แต่มิได้มีแรงทำร้ายใครอย่างที่ร่ำลือเป็นเพียงการเดินไปช้า ๆ เพื่อสะดวกต่อการเคลื่อนย้ายเท่านั้น)
อย่างไรก็ตามวิชาการเลี้ยงผีดิบของเผ่าแม้วถือเป็นวิชาปิดแม้แต่คนของเผ่าแม้วเองก็ยากที่จะมีโอกาศได้เห็นโดยมากจะเป็นคำล่ำรือจนราวกับว่าไม่ไช่เรื่องจริงมีเรื่องเล่ากันว่าในสมัยราชวงศ์ชิงมีการลักลอบขนฝิ่นโดยซุกซ่อนไว้ในร่างกายคนที่ปลอมเป็นผีดิบแล้วเดินทางในเวลากลางคืนเพื่ออำพรางการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่ซึ่งว่ากันว่าเจ้าหน้าที่ที่กลัวผีจะไม่ค่อยตรวจสอบเท่าใดนัก

ตามตำนานเล่าว่าวิชาเลี้ยงผีดิบเกิดขึ้นกว่า 4000 ปีก่อนเมื่อครั้งที่ เอี๋ยนตี้ รบพ่ายต่อ หวงตี้ ครั้งนั้นเพื่อล้างแค้นให้เอี๋ยนตี้ ชือโย่ว หัวหน้าเผ่าแม้วได้นำนักรบบรรชนเผ่าแม้วกว่า 8 แสนขึ้นเหนือเพื่อรบแตกหักกับหวงตี้
ชือโย๋ว นั้นตามเทพปกรณัมโบราณของจีนกล่าวว่าเป็นเทพแห่งสงครามตามตำนานเล่าว่า ชือโย๋วมี 8 ขา 3 เศียร 6 กร หัวเป็นทองแดงหน้าผากเป็นเหล็กไม่กินไม่นอนรบทั้งคืนอยู่ยงคงกระพันสรรพศาสตรามิอาจระคายผิว ชือโย๋ว นำพาพี่น้องทั้ง 81 และไพร่พลเผ่าแม้วอีก 8 แสนยกทัพขึ้นเหนือไปรบกับหวงตี้ ศึกครั้งนี้ใหญ่หลวงนักแม่แต่หวงตี้ก็มิอาจต้านทานเมื่อจนปัญญาหวงตี้ในฐานะบุคคลที่ได้รับเลือกจากสวรรค์ให้เป็น โอรสสวรรค์ จึงเชิญเทพจากสวรรค์มาช่วยรบเมื่อเทพออกโรงเองนั่นหมายความว่าอวสารของชือโย๋วก็มาถึง ชือโย๋วและพี่น้องทั้ง 81 ถูกหวงตี้สังหารกองทัพเผ่าแม้วพังพินาศเลือดนองดั่งสายน้ำ



ครั้งนั้นทหารที่รอดตายตัดสินใจจะยกพลกลับจึงปรึกษากันว่าจะทำอย่างไรกับศพพี่น้องที่ตายในสงครามพลางกล่าวขึ้นว่า เราจะปล่อยเกลื่อนกลาดแบบนี้โดยไม่ไส่ใจไม่ได้ ทว่าศพมากมายจะขนกลับอย่างไร ครั้งนั้นมีแม่ทัพคนหนึ่งที่คนเผ่าแม้วเรียกว่า อาผู่ กล่าวขึ้นว่าข้ามีวิธี กล่าวแล้วก็บริกรรมคาถาจากนั้นศพทั้งหมดก็ลุกขึ้น อาผู่กล่าวขึ้นว่าพี่น้องทั้งหลายกลับบ้านกันเถิดพ่อแม่พี่น้องของเรารออยู่ อาผู่ เดินนำหน้าขณะที่ศพทหารต่างเดินตามจนกลายเป็นต้นกำเนิดของวิชาการเลี้ยงผีดิบในที่สุด



นอกจากนี้ยังมีผีดิบอีกประเภทหนึ่งเป็นผีดิบตามความเชื่อฮวงจุ้ยโดยกล่าวว่าหลุมฝังศพบางชนิด (หายากมาก) เมื่อฝังศพไปแล้วศพจะดูดซับพลังสุริยันจันทราทำให้ไม่เน่าเปื่อย ไม่เพียงเท่านั้นผมและเล็บของศพจะยาวขึ้นด้วยเชื่อกันว่าศพชนิดนี้จะทำให้โชคลาภวาสนาของลูกหลานตกต่ำโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อศพอ้าปากนั่นหมายถึงการกินลูกหลาน หมายถึงต้องมีคนในครอบครัวเสียชีวิตโดยในส่วนของชาวบ้านเชื่อกันว่าผีดิบหรือศพชนิดนี้จะออกมาทำร้ายผู้คนได้ ซึ่งเป็นเพียงคำร่ำลือ ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด แม้แต่เรื่องที่ศพไม่เน่านั้นปัจจุบันมีการขุดศพดังกล่าวพบว่าผมและเล็บยาวขึ้นจริง แต่ศพก็เน่าเป็นปกติอาจจะเน่าช้าไปบ้างทั้งนี้เพราะศพในลักษณะนี้มักจะฝังในที่ที่มีตาน้ำไหลผ่านใต้สุสานจึงทำให้ดินมีอุณหภูมิต่ำและชื้นจึงทำให้ศพเน่าช้ากว่าปกติ ซึ่งการมีตาน้ำไหลผ่านใต้สุสานนั้นในทางฮวงจุ้ยถือว่าร้ายมาก (ตาน้ำในชั้นใต้ดิน ถ้าอาจารย์ไม่เก่งจะดูไม่ออก) อย่างไรก็ตามฮวงจุ้ยที่ดีในโลกนี้ถือว่าน้อยมาก (หมายถึงฮวงจุ้ยคนตาย) คนมีบุญวาสนาถึงจะได้ครอบครอง
อย่างไรก็ตามชาวจีนยังมีตำนานที่เกี่ยวข้องกับผีดิบอีกแต่ไม่ขอกล่าวในที่นี้ซึ่งไม่เพียงแต่เผ่าแม้วจะถ่ายทอดความเชื่อมาสู่ศาสนาเต๋า ขณะเดียวกันก็รับเอาความเชื่อและวัฒนธรรมของศาสนาเต๋ามาไว้กับตนด้วยดังจะเห็นว่าพิธีกรรมหมอผีของเผ่าแม้วจะมีความเชื่อและวิธิปฏิบัติของศาสนาเต๋าปะปนอยู่ไม่น้อย

ลัทธิเจเข้าทรง (อูซันไพ่) รับเอาวิชาของเผ่าแม้วมาผสมผสานกับวิชาและความเชื่อของศาสนาเต๋า ศาสนาพุทธ และได้ผนวกความเชื่อของตนเข้ากับลัทธิเทพกุมารจนเกิดเป็นลัทธิเจเข้าทรง(อูซันไพ่) สายเทพกุมารซึ่งถือได้ว่าเป็นเอกลักษณ์ที่สำคัญของสำนักอูซัน ซึ่งนอกจากจะนับถือเทพเจ้าทั่วไปยังนับถือเทพกุมารเป็นพิเศษ เทพกุมารที่มีก็อาทิเช่น นาจา หงให่เอ๋อ(แต้จิ๋วออกเสียงว่า อั้งไห่ยี้) สุธนกุมาร ทั้งยังเผยแพร่ความเชื่อเรื่องแนวทางการปฏิบัติสายเทพกุมารซึ่งความเชื่อดังกล่าวยังสามารถพบได้ในปัจจุบันในประเทศไทยด้วย

คำว่า ถงจี(ตั่งกี-กีต๋อง) นั้นหมายถึงร่างทรงแต่ถ้าแปลตามตัวอักษรนั้นคำว่า ถง แปลว่าเด็กผู้ชายหรือกุมาร ลัทธินี้เผยแพร่คำสอนเรื่องเทพกุมาร ความเชื่อเรื่องเทพกุมารมีเค้าโครงว่าเริ่มเกิดขึ้นในสมัยราชวงศ์ถัง (พศ.1161-1450) และสำเร็จเป็นแนวคำสอนในช่วงสมัยราชวงศ์เหยวียน(พศ.1749 – 1911)

เรื่องของเทพกุมารนั้นมาต้นกำเนิดมาจากเรื่องนักพรตในศาสนาเต๋าที่มีลูกศิษย์คอยติตตาม ต่อมาความเชื่อนี้ได้พัฒนาเป็นว่าเทพทั้งหลายต่างก็มีลูกศิษย์คอยติดตามและเทพยิ่งมีศักดิ์สูงก็ยิ่งมีศิษย์ติดตามมาก ดังจะปรากฏในคัมภีร์ เจินอูเปิ่นฉวนเมี่ยวจิง ของศาสนาเต๋าว่า เทพเสวียนเที่ยนสั้งตี้ (เฮี่ยนเทียนส่งเต้)มีศิษย์ที่เป็นเทพกุมารถึง25องค์ โดยความเชื่อเรื่องที่พระโพธิสัตว์กวนอิมมีเทพกุมารและกุมารีซ้ายขวาติดตามก็มีอิทธิพลมายังความเชื่อดังกล่าว

วิชา กวนถงจี หรือที่คนไทยรู้จักคือการเข้าทรงนั้น ถือเป็นเอกลักษณ์ของลัทธิเจเข้าทรงสายเทพกุมารเนื่องจากนับถือและเผยแพร่เรื่องแนวคำสอนเพื่อความเป็นเทพกุมารด้วยเหตุนี้ในการเข้าทรงจึงให้ร่างทรงแต่งกายเลียนแบบเทพกุมารซึ่งก็คือการแต่งตัวเหมือนเด็กผู้ชายจีนสมัยโบราณ กล่าวคือร่างทรงจะไส่กางเกงไม่ไส่เสื้อแต่จะนำเอี๊ยมหรือต้อ (แต้จิ๋วเรียกว่า โต๋วแผะ) ซึ่งทำจากผ้าใหมจีนมาใส่แทนโดยไม่จำกัดว่าม้าทรงนั้นจะแก่หรือเด็กและเทพที่มาประทับทรงก็ไม่จำเป็นว่าต้องเป็นเทพกุมารด้วย และด้วยเหตุผลทางวัฒนธรรมลัทธิกุมารแม้จะมีเรื่องราวของเทพกุมารีแต่ก็ยังให้ความสำคัญเทพกุมารซึ่งเป็นผู้ชายมากว่าและไม่อนุญาติให้ผู้หญิงเป็นร่างทรง ซึ่งในกรณีที่พบว่าในปัจจุบันมีร่างทรงที่เป็นหญิงนั้นเป็นเรื่อ่งที่มีในภายหลังและการแต่งกายของร่างทรงในลักษณะอื่นก็เป็นเรื่องที่มาในภายหลังเช่นกัน







สำหรับในลัทธิอนุตตรธรรม ก็ได้รับเอาวัฒนธรรมนี้มาอย่างเต็มที่เพราะการเข้าทรงเทพกุมารก็มีให้เห็นเป็นปกติในลัทธิเช่นกันโดยในเวลาที่ร่างทรงนั้นเข้าทรงเทพกุมารเด็กก็จะต้องมีการแต่งตัวให้ใหม่โดยจะมัดผมจุกและไส่เอี๊ยม ลักษณะท่าทางและน้ำเสียงก็จะทำเป็นเด็กทันที มีการวิ่งไปรอบ ๆ อย่างซุกซน มีการวิ่งแจกท๊อฟฟี่ มีการหยอกล้อกับผู้ที่มาประชุม ยิ่งถ้ามาเข้าทรงพร้อมกัน สองหรือสาม คนในคราวเดียวก็จะสนุกสนานเป็นอย่างมาก

โดยเทพกุมารที่มาบ่อยสำหรับ ลัทธิอนุตตรธรรม ได้แก่ กุมารน้องสององค์ที่เชื่อว่าอยู่ข้างพระแม่กวนอิม และ นาจา(หงไห่เอ๋อ แต่ในลัทธิจะเรียกว่า ไท่จื่อเหย๋)

ลัทธิเจเข้าทรงยังมีอีกสายหนึ่งเรียกว่า สาย วังอี๋ หรือที่เรียกอีกอย่างว่าสาย หงเหนียน(อั่งเนี้ย) สายนี้มีลักษณะค่อนข้างปิดทั้งยังมีลักษณะที่ค่อนข้างแฝงไว้ด้วยกลิ่นอายการเข้าทรงของหมอผีเผ่าแม้ว สายวังอี๋ นี้ยังพอพบได้ในงานศพคนจีน(ทั้งฮกเกี้ยนและแต้จิ๋ว) จะมีการชักชวนญาติของผู้ตายให้ไปหาร่างทรงเพื่อเข้าทรงวิญญานผู้ตายเพื่อให้ญาติถามไถ่ถึงความเป็นอยู่ในปรภพ อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ค่อนข้างเป็นเรื่องภายในครอบครัวคนภายนอกไม่สะดวกที่จะเข้าไปก้าวก่าย

สายวังอี๋ นี้คนทรงจะต้องเป็นเพศหญิงเท่านั้น เป็นที่น่าสังเกตว่าความเชื่อที่ร่างทรง(ม้าทรง) เป็นเพศหญิงนั้นค่อนข้างแพร่หลายมากอาจกล่าวได้ว่าเป็นเอกลักษณ์ที่สำคัญของความเชื่อสายเผ่าแม้ว ทั้งนี้เพราะเผ่าแม้วมีขนาดใหญ่แตกสาขาออกไปหลายเผ่าย่อย มีการตั้งรกรากกระจัดกระจายไปอย่างกว้างขวางทำให้ความเชื่อแพร่ขยายเป็นบริเวณกว้าง ซึ่งการเข้าทรงที่ร่างทรงเป็นเพศหญิงนั้นมีมากมายไม่ว่าจะเป็น ลัทธิเจเข้าทรงสาย วังอี๋ การทรงผีฟ้าในประเทศไทย นอกจากนี้ยังมีชนเผ่าแม้วที่อยู่ในมณฑลเหลียวหนิง ที่เป็นต้นกำเนิดของความเชื่อร่างทรง มูดัง ของชาวเกาหลี และ มิโกะ ของชาวญี่ปุ่น โดยที่มูดังและมิโกะนั้นต่างก็เป็นเพศหญิงด้วยกันทั้งสิ้น





สำหรับการเข้าทรงของลัทธิอนุตตรธรรมหากเป็นสมัยก่อนจะมีทั้งผู้ชายด้วยแต่ว่าปัจจุบันนี้ร่างทรงผู้ชายได้ถูกยกเลิกไปนานแล้ว โดยปัจจุบันจะใช้ร่างทรงผู้หญิงเท่านั้นคล้ายกับสาย วังอี๋  แต่ก็อาจมีบ้างที่เราอาจเห็นลัทธิอนุตตรธรรมนี้มีการเข้าทรงในร่างผู้ชายในปัจจุบันซึ่งก็อาจมีได้เป็นกรณีพิเศษแต่ก็ขอให้ทราบว่า ร่างผู้ชายที่ใช้ขณะนั้นเดิมทีไม่ไช่ร่างทรง ซึ่งในกรณีนี้จะมีน้อยมาก

โดยร่างทรงในลัทธิอนุตตรธรรมแบ่งเป็นทีมละ 3 คน ในลัทธิจึงเรียกร่างทรงว่า สามคุณ หรือ ซันไฉ ส่วนการเข้าทรงก็มีทั้งแบบเข้าทรงในร่างคนพูดคุยกันปกติและแบบที่เข้าทรงผ่านวัตถุหรือที่ลัทธิเขาเรียกว่า กระบะทรายนั่นเอง ส่วนการทำงานของ สามคุณ นั้นได้เคยอธิบายไว้แล้วในตอนที่แล้ว

ลัทธิเจเข้าทรง เป็นลัทธินอกกฎหมายที่เผยแพร่ไปยังหมู่ประชาชนในภาคกลางถึงภาคใต้ของประเทศจีนโดยผ่านมาทางมณฑลเจียงซี(กังไส) แล้วเข้าสู่มรฑลฝูเจี้ยน นิยมเลื่อมใสในไสยศาสตร์และภูตผี ลัทธินี้จึงเผยแพร่ไปอย่างรวดเร็ว ในความจริงลัทธินี้ยังสามารถพบได้ในกว่างตง(กวางตุ้ง),เฉาโจว(แต้จิ่ว) ฯลฯ เพียงแต่ค่อนข้างบางตาไม่สามารถพบได้มากนัก โดยในปัจจุบันลัทธิเจเข้าทรงในรูปแบบองค์กรได้สูญสิ้นไปแล้วเหลือเพียงแต่รูปแบบของพิธีกรรม (แต่ก็ยังมีแฝงอยู่ในองกรณ์ต่าง ๆ ) ซึ่งเป็นร่องรอยอันหนึ่งอันสามารถพบได้ในเฉพาะที่อยู่ของขาวจีนโพ้นทะเล (ชาวจีนฝูเจี้ยน)เท่านั้น

รูปแบบและความเชื่อของลัทธิเจเข้าทรงเป็นเอกลักษณ์โดยเฉพาะของตนเอง ต่อมาภายหลังได้ผสมผสานกับความเชื่อของสำนักต่าง ๆ ทั้งพุทธศาสนาและเต๋า ในภายใต้ของจีน จึงทำให้เห็นว่าสำนักต่าง ๆ นั้นต่างก็มีความเชื่อเรื่องการเข้าทรงลักษณะนี้ ทั้งนี้เป็นเพราะการรับและถ่ายทอดทางวัฒนธรรมซึ่งกันและกัน ซึ่งโดยทั่วไปจะมีลักษณะที่ไกล้เคียงกัน จะต่างกันก็เฉพาะในรายละเอียดปลีกย่อยเท่านั้น


ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก
http://www.yokipedia.com/vegetarian/124-2010-09-09-17-56-06

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น