วันอาทิตย์ที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2556

เข้าทรงเทพกุมาร

เข้าทรงเทพกุมาร

ลัทธิเจเข้าทรง (อูซันไพ่) รับเอาวิชาของเผ่าแม้วมาผสมผสานกับวิชาและความเชื่อของศาสนาเต๋า ศาสนาพุทธ และได้ผนวกความเชื่อของตนเข้ากับลัทธิเทพกุมารจนเกิดเป็นลัทธิเจเข้าทรง(อูซันไพ่) สายเทพกุมารซึ่งถือได้ว่าเป็นเอกลักษณ์ที่สำคัญของสำนักอูซัน ซึ่งนอกจากจะนับถือเทพเจ้าทั่วไปยังนับถือเทพกุมารเป็นพิเศษ เทพกุมารที่มีก็อาทิเช่น นาจา หงให่เอ๋อ(แต้จิ๋วออกเสียงว่า อั้งไห่ยี้) สุธนกุมาร ทั้งยังเผยแพร่ความเชื่อเรื่องแนวทางการปฏิบัติสายเทพกุมารซึ่งความเชื่อดังกล่าวยังสามารถพบได้ในปัจจุบันในประเทศไทยด้วย

คำว่า ถงจี(ตั่งกี-กีต๋อง) นั้นหมายถึงร่างทรงแต่ถ้าแปลตามตัวอักษรนั้นคำว่า ถง แปลว่าเด็กผู้ชายหรือกุมาร ลัทธินี้เผยแพร่คำสอนเรื่องเทพกุมาร ความเชื่อเรื่องเทพกุมารมีเค้าโครงว่าเริ่มเกิดขึ้นในสมัยราชวงศ์ถัง (พศ.1161-1450) และสำเร็จเป็นแนวคำสอนในช่วงสมัยราชวงศ์เหยวียน(พศ.1749 – 1911)


เรื่องของเทพกุมารนั้นมาต้นกำเนิดมาจากเรื่องนักพรตในศาสนาเต๋าที่มีลูกศิษย์คอยติตตาม ต่อมาความเชื่อนี้ได้พัฒนาเป็นว่าเทพทั้งหลายต่างก็มีลูกศิษย์คอยติดตามและเทพยิ่งมีศักดิ์สูงก็ยิ่งมีศิษย์ติดตามมาก ดังจะปรากฏในคัมภีร์ เจินอูเปิ่นฉวนเมี่ยวจิง ของศาสนาเต๋าว่า เทพเสวียนเที่ยนสั้งตี้ (เฮี่ยนเทียนส่งเต้)มีศิษย์ที่เป็นเทพกุมารถึง25องค์ โดยความเชื่อเรื่องที่พระโพธิสัตว์กวนอิมมีเทพกุมารและกุมารีซ้ายขวาติดตามก็มีอิทธิพลมายังความเชื่อดังกล่าว


วิชา กวนถงจี หรือที่คนไทยรู้จักคือการเข้าทรงนั้น ถือเป็นเอกลักษณ์ของลัทธิเจเข้าทรงสายเทพกุมารเนื่องจากนับถือและเผยแพร่เรื่องแนวคำสอนเพื่อความเป็นเทพกุมารด้วยเหตุนี้ในการเข้าทรงจึงให้ร่างทรงแต่งกายเลียนแบบเทพกุมารซึ่งก็คือการแต่งตัวเหมือนเด็กผู้ชายจีนสมัยโบราณ กล่าวคือร่างทรงจะไส่กางเกงไม่ไส่เสื้อแต่จะนำเอี๊ยมหรือต้อ (แต้จิ๋วเรียกว่า โต๋วแผะ) ซึ่งทำจากผ้าใหมจีนมาใส่แทนโดยไม่จำกัดว่าม้าทรงนั้นจะแก่หรือเด็กและเทพที่มาประทับทรงก็ไม่จำเป็นว่าต้องเป็นเทพกุมารด้วย และด้วยเหตุผลทางวัฒนธรรมลัทธิกุมารแม้จะมีเรื่องราวของเทพกุมารีแต่ก็ยังให้ความสำคัญเทพกุมารซึ่งเป็นผู้ชายมากว่าและไม่อนุญาติให้ผู้หญิงเป็นร่างทรง ซึ่งในกรณีที่พบว่าในปัจจุบันมีร่างทรงที่เป็นหญิงนั้นเป็นเรื่อ่งที่มีในภายหลังและการแต่งกายของร่างทรงในลักษณะอื่นก็เป็นเรื่องที่มาในภายหลังเช่นกัน









สำหรับในลัทธิอนุตตรธรรม ก็ได้รับเอาวัฒนธรรมนี้มาอย่างเต็มที่เพราะการเข้าทรงเทพกุมารก็มีให้เห็นเป็นปกติในลัทธิเช่นกันโดยในเวลาที่ร่างทรงนั้นเข้าทรงเทพกุมารเด็กก็จะต้องมีการแต่งตัวให้ใหม่โดยจะมัดผมจุกและไส่เอี๊ยม ลักษณะท่าทางและน้ำเสียงก็จะทำเป็นเด็กทันที มีการวิ่งไปรอบ ๆ อย่างซุกซน มีการวิ่งแจกท๊อฟฟี่ มีการหยอกล้อกับผู้ที่มาประชุม ยิ่งถ้ามาเข้าทรงพร้อมกัน สองหรือสาม คนในคราวเดียวก็จะสนุกสนานเป็นอย่างมาก

โดยเทพกุมารที่มาบ่อยสำหรับ ลัทธิอนุตตรธรรม ได้แก่ กุมารน้องสององค์ที่เชื่อว่าอยู่ข้างพระแม่กวนอิม และ นาจา(หงไห่เอ๋อ แต่ในลัทธิจะเรียกว่า ไท่จื่อเหย๋)


ลัทธิเจเข้าทรงยังมีอีกสายหนึ่งเรียกว่า สาย วังอี๋ หรือที่เรียกอีกอย่างว่าสาย หงเหนียน(อั่งเนี้ย) สายนี้มีลักษณะค่อนข้างปิดทั้งยังมีลักษณะที่ค่อนข้างแฝงไว้ด้วยกลิ่นอายการเข้าทรงของหมอผีเผ่าแม้ว สายวังอี๋ นี้ยังพอพบได้ในงานศพคนจีน(ทั้งฮกเกี้ยนและแต้จิ๋ว) จะมีการชักชวนญาติของผู้ตายให้ไปหาร่างทรงเพื่อเข้าทรงวิญญานผู้ตายเพื่อให้ญาติถามไถ่ถึงความเป็นอยู่ในปรภพ อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ค่อนข้างเป็นเรื่องภายในครอบครัวคนภายนอกไม่สะดวกที่จะเข้าไปก้าวก่าย


สายวังอี๋ นี้คนทรงจะต้องเป็นเพศหญิงเท่านั้น เป็นที่น่าสังเกตว่าความเชื่อที่ร่างทรง(ม้าทรง) เป็นเพศหญิงนั้นค่อนข้างแพร่หลายมากอาจกล่าวได้ว่าเป็นเอกลักษณ์ที่สำคัญของความเชื่อสายเผ่าแม้ว ทั้งนี้เพราะเผ่าแม้วมีขนาดใหญ่แตกสาขาออกไปหลายเผ่าย่อย มีการตั้งรกรากกระจัดกระจายไปอย่างกว้างขวางทำให้ความเชื่อแพร่ขยายเป็นบริเวณกว้าง ซึ่งการเข้าทรงที่ร่างทรงเป็นเพศหญิงนั้นมีมากมายไม่ว่าจะเป็น ลัทธิเจเข้าทรงสาย วังอี๋ การทรงผีฟ้าในประเทศไทย นอกจากนี้ยังมีชนเผ่าแม้วที่อยู่ในมณฑลเหลียวหนิง ที่เป็นต้นกำเนิดของความเชื่อร่างทรง มูดัง ของชาวเกาหลี และ มิโกะ ของชาวญี่ปุ่น โดยที่มูดังและมิโกะนั้นต่างก็เป็นเพศหญิงด้วยกันทั้งสิ้น







สำหรับการเข้าทรงของลัทธิอนุตตรธรรมหากเป็นสมัยก่อนจะมีทั้งผู้ชายด้วยแต่ว่าปัจจุบันนี้ร่างทรงผู้ชายได้ถูกยกเลิกไปนานแล้ว โดยปัจจุบันจะใช้ร่างทรงผู้หญิงเท่านั้นคล้ายกับสาย วังอี๋  แต่ก็อาจมีบ้างที่เราอาจเห็นลัทธิอนุตตรธรรมนี้มีการเข้าทรงในร่างผู้ชายในปัจจุบันซึ่งก็อาจมีได้เป็นกรณีพิเศษแต่ก็ขอให้ทราบว่า ร่างผู้ชายที่ใช้ขณะนั้นเดิมทีไม่ไช่ร่างทรง ซึ่งในกรณีนี้จะมีน้อยมาก

โดยร่างทรงในลัทธิอนุตตรธรรมแบ่งเป็นทีมละ 3 คน ในลัทธิจึงเรียกร่างทรงว่า สามคุณ หรือ ซันไฉ ส่วนการเข้าทรงก็มีทั้งแบบเข้าทรงในร่างคนพูดคุยกันปกติและแบบที่เข้าทรงผ่านวัตถุหรือที่ลัทธิเขาเรียกว่า กระบะทรายนั่นเอง ส่วนการทำงานของ สามคุณ นั้นได้เคยอธิบายไว้แล้วในตอนที่แล้ว


ลัทธิเจเข้าทรง เป็นลัทธินอกกฎหมายที่เผยแพร่ไปยังหมู่ประชาชนในภาคกลางถึงภาคใต้ของประเทศจีนโดยผ่านมาทางมณฑลเจียงซี(กังไส) แล้วเข้าสู่มรฑลฝูเจี้ยน นิยมเลื่อมใสในไสยศาสตร์และภูตผี ลัทธินี้จึงเผยแพร่ไปอย่างรวดเร็ว ในความจริงลัทธินี้ยังสามารถพบได้ในกว่างตง(กวางตุ้ง),เฉาโจว(แต้จิ่ว) ฯลฯ เพียงแต่ค่อนข้างบางตาไม่สามารถพบได้มากนัก โดยในปัจจุบันลัทธิเจเข้าทรงในรูปแบบองค์กรได้สูญสิ้นไปแล้วเหลือเพียงแต่รูปแบบของพิธีกรรม (แต่ก็ยังมีแฝงอยู่ในองกรณ์ต่าง ๆ ) ซึ่งเป็นร่องรอยอันหนึ่งอันสามารถพบได้ในเฉพาะที่อยู่ของขาวจีนโพ้นทะเล (ชาวจีนฝูเจี้ยน)เท่านั้น


รูปแบบและความเชื่อของลัทธิเจเข้าทรงเป็นเอกลักษณ์โดยเฉพาะของตนเอง ต่อมาภายหลังได้ผสมผสานกับความเชื่อของสำนักต่าง ๆ ทั้งพุทธศาสนาและเต๋า ในภายใต้ของจีน จึงทำให้เห็นว่าสำนักต่าง ๆ นั้นต่างก็มีความเชื่อเรื่องการเข้าทรงลักษณะนี้ ทั้งนี้เป็นเพราะการรับและถ่ายทอดทางวัฒนธรรมซึ่งกันและกัน ซึ่งโดยทั่วไปจะมีลักษณะที่ไกล้เคียงกัน จะต่างกันก็เฉพาะในรายละเอียดปลีกย่อยเท่านั้น




ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก
http://www.yokipedia.com/vegetarian/124-2010-09-09-17-56-06

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น