วันเสาร์ที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ลัทธิอนุตตรธรรมกับการตีความเครื่องหมายแต่ละศาสนาแบบผิดเพี้ยน


ลัทธิอนุตตรธรรมกับการตีความเครื่องหมายแต่ละศาสนา

แบบมั่ว ๆ เพื่อให้เข้ากับลัทธิตน

ตอนนี้ขอเล่าเรื่อง จุดญานทวาร บริเวณดั้งจมูกหัก ๆ ที่ลัทธิอนุตตรธรรมอุปโลกว่าเป็นประตูนิพพาน โดยลัทธินี้มีการไปดึงเอาสัญลักษณ์ของแต่ละศาสนามาแอบอ้างและบิดเบือนความหมายจากเดิมโดยพยายามที่จะตีความใหม่เพื่อให้โยงมาสู่เรื่องจุดญานทวาร โดยลัทธินี้อุปโลกว่าพระศาสดาแต่ละศาสนานั้นต่างก็ทราบเรื่องนี้แต่ปิดเป็นความลับเพราะเป็นความลับสวรรค์จึงไม่พูดตรง ๆ แต่ก็ได้ทิ้งปริศนาธรรมไว้บนสัญลักษณ์เหล่านั้นแต่เราทุกคนไม่เข้าใจกันเอง ส่วนคนไหนอยากรู้ความลับนี้ก็ต้องไปเข้าลัทธินี้...จากนั้นก็ตีความแบบมั่ว ๆ ดังนี้


(๑.) ธรรมจักรแห่งพุทธศาสนา 
เป็นรูปวงล้อมีแฉกด้านใน หรือ บางที่อาจเขียนคล้ายเครื่องหมายสวัสดิกะ มีลักษณะคล้ายกับเครื่องหมายนาซี (ลองวาดดู) จากนั้นนั้นจะวาดตาใส่สองข้างตรงแกนกลางด้านในให้เป็นหน้าคน ตรงกลางจะเป็นดั้งจมูกพอดี (เข้ากันได้เป๊ะ) และยกอีกเรื่องว่าพระพุทธเจ้าได้กล่าวถึง เชิงเขาคิชฌกูฏ ซึ่งเป็นปริศนาว่าคือตรงดั้งจมูกนี่เอง...

ขอชี้แจงความมั่วนี้ว่า >> รูปธรรมจักรไม่ใช่ของพระพุทธเจ้าทรงบัญญัติให้แสดงจุดอะไรดังกล่าวแน่นอน แต่เป็นสัญลักษณ์ที่เกิดขึ้นแทนหลักธรรม ที่เปรียบตามซี่ล้อเกวียนของการดำเนินไปของธรรม คือ ถ้าหากมี ๘ ซี่ เท่ากับ มรรคองค์ ๘ ถ้ามี ๑๒ ซี่ เท่ากับ ปฏิจจสมุปปบาท ๑๒ เป็นต้น และไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับจุดญาณทวารเลย และแต่เดิมเป็นรูปแทนขณะพระพุทธเจ้าแสดงธรรม เพราะยุคแรกหลังพุทธปรินิพพาน ไม่มีการสร้างพระพุทธรูปขึ้นไว้บูชา ส่วนเขาคิชฌกูฏ หมายถึงเขาหัวแร้ง ตามสภาพรูปหินที่ปรากฏบนเขา ซึ่งความหมายไม่ได้เกี่ยวกับดั้งจมูกเลย



(๒.) ไม้กางเขนแห่งคริสต์ศาสนา ให้วาดรูปไม้กางเขนและวาดวงกลมครอบลงไปจะได้วงกลมมีสี่แฉกด้านในพอใส่ตาตรงแกนสองข้างจะเป็นหน้าคน ตรงกลางก็คือดั้งจมูกเป๊ะ...

ขอชี้แจงความมั่วนี้ว่า >> ไม้กางเขน พระเยซูไม่ได้เป็นคนสร้างขึ้นมาและพระเยซูคริสต์ไม่ได้บัญญัติให้แทนจุดดังกล่าวแน่นอน แต่เป็นของที่มีอยู่ดาษดื่นในสมัยนั้น ที่เป็นเครื่องทรมาณนักโทษ คนที่คิดจึงเป็นชาวโรมันที่มีอำนาจในตอนนั้น ซึ่งของดังกล่าวเป็นเครื่องประหาร ที่ถูกนำมาใช้ทรมาณพระเยซูนัยว่าเป็นการล้างบาปให้หมู่มนุษย์ ตามความเชื่อชาวคริสต์ในยุคต่อๆ มา ที่จะสร้างไม้กางเขนไว้ก็เพื่อให้ระลึกถึงความรักและการเสียสละของพระศาสดาองค์ดังกล่าว ที่มีให้แก่มนุษย์ทั้งหลาย


(๓.) เครื่องหมายศาสนาอิสลาม จะเป็นเป็นรุปพระจันทร์เสี้ยวมีดาวชี้ลงมา โดยกล่าวว่านั่นคือหน้าคนด้านข้าง ดาวนั้นชี้ลงมาที่ดั้งจมูก

ขอชี้แจงความมั่วนี้ว่า >> ศาสนาอิสลาม มีข้อห้ามเด็ดขาดเรื่องรูปเคารพ และสิ่งใดก็ตามที่จะบ่งความเป็นตัวแทนพระเป็นเจ้าตรงๆ เพราะจะนำพาไปในนัยที่ว่าจะตั้งภาคีและหมิ่นพระเป็นเจ้า 
เหตุนี้ ศาสนาอิสลามจึงไม่มีเครื่องหมาย หรือสัญลักษณ์ใดๆ ที่เป็นสิ่งแทนศาสนาอิสลามแบบเจาะจงและชี้ตรงถึงพระเป็นเจ้า 
ดังนั้น ย่อมเป็นไปไม่ได้ ที่ศาสดาศาสนาอิสลามจะบัญญัติสัญลักษณ์อะไรมาส่อแสดงตามลัทธินี้กล่าวอ้างได้เลย ที่เป็นรูปพระจันทร์กับดาว เพราะบรรดาแม่ทัพมุสลิมต่างสรรหาสัญลักษณ์ไว้บนธงรบเพื่อให้เกิดความแตกต่างระหว่างรบพุ่งกับศัตรู, แม่ทัพมุสลิมบางคนก็ใช้ธงสีเขียวเป็นสัญลักษณ์บ้าง, บางคนก็ใช้สีสันต่างๆ กันออกไป 

แต่มีแม่ทัพอยู่คนหนึ่งให้ตัวอักษรภาษาอฺรับว่า " ن " คือ อักษรนูน ซึ่งหมายถึง รัศมี คำเต็มคือ " نور " อ่านว่า นูรฺ, โดยถือเป็นคำย่อของ " نورالله " อ่านว่า นูรุลลอฮ์ แปลว่า รัศมีของอัลลอฮ์, ภายหลังที่ใช้ตัวอักษรอาหรับว่า " ن " ภายหลังจากนั้น มุสลิมหลายคนพากันพิจารณาคำว่า " ن " มาใช้เพื่อระลึกถึงพระผู้เป็นเจ้า  ซึ่งเส้นโค้งของตัวอักษร "นูน"คล้ายกับจันทร์เสี้ยว และจุดที่อยู่ตรงกลางคล้ายกับดวงดาว, 

มุสลิมในรุ่นหลังๆ ก็ออกแบบจากตัวอักษรนูนให้กลายมาเป็นดวงดาวที่ถูกวางไว้ช่วงส่วนโค้งของจันทร์เสี้ยวตราบจนปัจจุบันนี้, ข้างต้นเป็นตำนานหนึ่งที่กล่าวถึงที่มาของสัญลักษณ์ดาวเดือน ไม่ใช่ที่ชี้จุดญาณทวารตามลัทธินี้อ้างเลยแต่อย่างใด และเกิดมาด้วยมุสลิมยุคหลังได้สร้างขึ้นเท่านั้น ไม่ใช่ของที่พระศาสดาศาสนานี้บัญญัติชี้จุดไว้ตามอ้างแต่อย่างใด



(๔.) แจกันและกิ่งหลิวเจ้าแม่กวนอิม จะเป็นรูปกิ่งหลิวแยกเป็นสองแฉกออกไปสองข้าง หากวาดรูปตรงแจกกันจะเป็นจมูก กิ่งหลิวเป็นคิ้วจากนั้นวาดตาใส่ใต้กิ่งหลิว จะเป็นรูปหน้าคนพอดี โดยกล่าวว่าเจ้าแม่กวนอิมต้องบำเพ็ญจนน้ำเต็มแจกันจึงบรรลลุธรรม หากวาดรูปเสร็จปากแจกันที่น้ำเต็มจะตรงกับดั้งจมูกพอดี

ขอชี้แจงความมั่วนี้ว่า >> ส่วนนี้เป็นความพยายามที่สุดที่จะลากพระกวนอิมโพธิสัตว์ให้มาเกี่ยวข้อง กิ่งหลิวตามจริงไม่จำเพาะว่าต้องแยกเป็นสองแฉกจากแจกันเลย และคติที่มีแจกัน เป็นคติที่เกิดจากจีน ที่พระกวนอิมโพธิสัตว์ถูกนำไปแปลงตามเรื่องเจ้าหญิงเมี่ยวซ่าน ซึ่งพระกวนอิม หรือพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร จากต้นฉบับที่อินเดีย หรือส่วนอื่นๆ ที่มีหรือเคยมีพุทธศาสนามหายาน เช่น ที่ทิเบต ชวา กัมพูชา เนปาล ...หรือแม้ในไทยยุคมหายานโบราณ เช่น สมัยศรีวิชัย ศรีเทพ ทวารวดี จัมปาศรี ฯลฯ ก็ไม่ปรากฏว่าพระโพธิสัตว์จะมีแจกันใส่กิ่งหลิวถือไว้เลย เพราะคติดังกล่าวเป็นของเกิดในจีน และเป็นความคิดไปเอง ที่พยายามดึงพระกวนอิมที่มีคนศรัทธามาก ให้มาเป็นหมากอีกตัวที่ลัทธิใช้หากิน

(๕.) บางกรณีมีการยกรูปน้ำเต้าที่เซียนทิไกวลี้ถือหรือสะพายอยู่ด้วย โดยอธิบายความทำนองอย่างเดียวกับแจกันของพระโพธิสัตว์กวนอิม

อธิบาย >> เรื่องนี้คติคล้ายพระกวนอิม แต่ไม่แพร่หลายเท่าเรื่องแจกัน เพราะจำนวนผู้ศรัทธาต่างกับพระกวนอิมอยู่มาก แต่ก็ยกมาไว้บ้างเพื่อให้ประกอบแนคิดให้ดูมีปริมาณสัญลักษณ์มากๆ เข้า จะได้น่าเชื่อถือมากขึ้น ซึ่งตามความจริง ล้วนแต่เป็นของเกิดจากจนตนาการ ที่พยายามสร้างความชอบธรรมให้จุดญาณทวารมีที่มารองรับ แม้ต้องเอาจินตนาการไปสรรหาสารพัดเหตุผลมาอ้างก็ตาม


(๖) สัญลักษณ์แห่งเต๋า สัญลักษณ์ หยิน หยาง
สัญลักษณ์นี้ก็ถูกดึงไปตีความมั่ว ๆ ว่าคือ จุดญาณทวาร ซึ่งมั่วทั้งเพ


ความหมายที่แท้จริงของสัญลักษณ์ หยิน หยาง >> 
ยิน (陰 yīn) คือพลังลบ มีลักษณะสีดำ เป็นพลังเพศหญิง พบในทุกสิ่งทุกอย่างที่ให้ความหนาวเย็น ความมืด อ่อนนุ่ม ชื้นแฉะ ลึกลับ และเปลี่ยนแปลง เช่น เงามืด น้ำ ฯลฯ
หยาง (陽 yáng) คือพลังบวกมีลักษณะสีแดง เป็นพลังเพศชาย พบในทุกสิ่งทุกอย่างที่ให้ความอบอุ่น สว่างไสว มั่นคง สดใส เช่น ดวงอาทิตย์ ไฟ ฯลฯ
เอกภพเกิดขึ้นโดยมียินและหยาง จากการปะทะกันของสองสิ่งนี้ ทุกสิ่งทุกอย่างก็อุบัติขึ้นมา ทุกสิ่งทุกอย่างมีพลังทั้งสองนี้ทั้งนั้น บางครั้งยินอาจมีพลังแข็งแรง แต่บางครั้ง หยาง ก็มีพลังมากกว่า ยกตัวอย่างเช่น ท่อนไม้ ตามปกติเป็นยิน แต่เมื่อโยนเข้าไปในกองไฟ ก็เปลี่ยนรูปเป็นหยางไป ในชีวิตยินและหยางก่อให้เกิดความล้มเหลวและความสำเร็จ เป็นต้น เช่นเดียวกัน หยางและยินไม่ใช่เป็นตัวแทนของความดีและความชั่ว แต่ทั้งสองนี้มีความจำเป็นต่อกฎเกณฑ์และระเบียบของเอกภพ ทั้งสองนี้ไม่ใช่อยู่ในภาวะปะทะกันตลอดเวลา แต่ยามใดมีความสามัคคีกัน ทั้งสองอย่างนี้ก็เป็นสิ่งดีด้วยกัน


""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""

นี่เป็นการบิดเบือนแต่ศาสนาโดยการดึงเอาแต่ละศาสนามาเป็นหมากเดินเท่านั้น 

สร้างคำสอนขึ้นมาใหม่และทำลายคำสอนเดิม 

สัญลักษณ์ของแต่ละศาสนานั้นมีประวัติศาสตร์ที่ชัดเจน ไม่เกี่ยวกับ จุดญาณทวาร และไม่
เกี่ยวกับจุดใด ๆ บนร่างกายที่ลัทธิอนุตตรธรรมอุปโลกว่าเป็นประตูนิพพานแต่อย่างใด
แต่ดูเหมือนว่า ลัทธินี้ต้องการที่จะเขียนประวัติศาสตร์ใหม่แบบมั่ว ๆ 
และทำลายพระธรรมคำสอนของแต่ละศาสนามาตลอด


ขอบคุณ



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น