วันพฤหัสบดีที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2557

ลัทธิอนุตตรธรรมกับการกินเจ

ลัทธิอนุตตรธรรมกับการกินเจ 

__บทนำ__
      เนื่องด้วยสาวกลัทธิอนุตตรธรรมมักจะนำเรื่อง กินเจ มาเป็นเรื่องหลักที่คอยจะยกย่องตัวเองว่าวิเศษเลิศแล้ว  วิเศษยิ่งกว่าพระสงฆ์องค์เจ้าซะอีก  และหลายครั้งที่แสดงออกถึงความดูถูกดูแคลนคนอื่นที่ไม่กินเจอยู่บ่อยครั้งผมจึงคิดว่าควรจะชี้แจงเรื่องนี้บ้าง

       แต่อย่างไรก็ตามผมไม่ได้ต่อต้านการทานเจนะครับ และไม่อยากให้คนมองว่าการทานเจเป็นเรื่องไม่ดี เรื่องการทานเจตามความคิดส่วนตัวผมเองก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี หรือใครอาจจะมองว่าเป็นการฝึกจิตเมตตาหรืออาจจะเพื่อสุขภาพนั่นก็ถูกต้องเช่นกันครับ  แต่ในอีกทางก็ไม่อยากให้ใครเอาเรื่องการทานเจมาเป็นเครื่องมือคอยเบียดเบียนกันจนกระทั่งแต่งเรื่องบิดเบือนพุทธศาสนาหรือบางคนอาจใช้เรื่องนี้เพื่อสร้างประเด็นปลุกปั่นสร้างความแตกแยกในสังคม  สร้างเรื่องถือมานะอัตตาถือเขาถือเราว่าตัวเลิศแล้วเพียงเพราะแค่ตนเองทานเจก็กลายเป็นผู้วิเศษจนหาเรื่องดูถูกดูแคลนจนกระทั่งหาเรื่องทะเลาะวิวาทผู้กับอื่นอยู่ร่ำไป ซึ่งเรื่องแบบนี้มันเลยเถิดจุดประสงค์การทานเจไปไกลซะแล้ว  

     และอีกอย่างถึงแม้การทานเจจะเป็นเรื่องที่ดี แต่...เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับพุทธศาสนาและไม่ใช่คำสอนพระพุทธเจ้า  เนื่องจากทุกวันมีลัทธิที่คอยแต่จะเอาเรื่องการทานเจไปเป็นประเด็นคอยเบียดเบียนพระศาสนาและคอยแต่จะแต่งตำราใหม่บิดเบือนพุทธศาสนาทุกวัน ใครอยากจะกินเจก็กินไปครับตามสิทธิอันพึงกระทำได้ แต่...อย่าได้เอาพุทธศาสนาเขาไปเกี่ยวข้องกับมิจฉาตัวเอง  อย่าลากเอาพระพุทธเจ้าไปเกี่ยวข้อง อย่าเอาพุทธศาสนาไปเป็นเครื่องมือเพื่อรองรับลัทธิตัวเอง  อย่ามาแต่งตำราใส่ร้ายพระพุทธเจ้า   อย่าบิดเบือนพุทธศาสนา   พระพุทธเจ้าไม่เคยทานเจและไม่เคยสอนเรื่องทานเจ และพระพุทธเจ้าไม่เคยห้ามทานเนื้อสัตว์ที่ได้มาอย่างถูกต้อง   
       บทความต่อจากนี้จะพยายามชี้แจงข้อสงสัยในประเด็นใหญ่ ๆ ของเรื่องการทานเจที่มีคนใส่ร้ายพุทธศาสนาต่าง ๆ นา ๆ รวมทั้งคำครหาต่าง ๆ จากลัทธิที่มุ่งแต่จะแต่งตำราใหม่บิดเบือนพุทธศาสนาอยู่ร่ำไป


ตอน....พระพุทธเจ้าไม่เคยฉันเจ

เนื้อในพุทธศาสนาแบ่งเป็น 2 ประเภทนะครับคือ
1-อุททิสมังสะ คือเนื้อที่เขาตั้งใจฆ่าเพื่อเจาะจงมาให้ เนื้อประเภทนี้ห้ามภิกษุฉัน
2-ปวัตตะมังสะ คือเนื้อที่ค้าขายทั่วไปตามท้องตลาด แบบนี้ให้ภิกษุฉันได้ครับ


--------------------------------------------------

เรื่องหมอชีวกโกมารภัจจ์
[๕๖] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้:
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ อัมพวันของหมอชีวกโกมารภัจจ์ เขตพระนครราชคฤห์. ครั้งนั้นแล หมอชีวกโกมารภัจจ์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า 

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระพุทธเจ้าได้ฟังคำนี้มาว่า ชนทั้งหลายย่อมฆ่าสัตว์เจาะจงพระสมณโคดม พระสมณโคดมทรงทราบข้อนั้นอยู่ ยังเสวยเนื้อที่เขาทำเฉพาะตน อาศัยตนทำ ดังนี้ 

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ชนเหล่าใดกล่าวอย่างนี้ว่า ชนทั้งหลายย่อมฆ่าสัตว์เจาะจงพระสมณโคดม พระสมณโคดมทรงทราบข้อนั้นอยู่ ยังเสวยเนื้อที่เขาทำเฉพาะตน อาศัยตนทำ ดังนี้ 

ชนเหล่านั้นชื่อว่า กล่าวตรงกับที่พระผู้มีพระภาคตรัส ไม่ชื่อว่ากล่าวตู่พระผู้มีพระภาคด้วยคำอันไม่เป็นจริง ชื่อว่ายืนยันธรรมอันสมควรแก่ธรรม การกล่าวและกล่าวตามที่ชอบธรรม จะไม่ถึงข้อติเตียนละหรือ?

เนื้อที่ไม่ควรบริโภค และควรบริโภค ๓ อย่าง

[๕๗] พ. ดูกรชีวก ชนใดกล่าวอย่างนี้ว่า ชนทั้งหลายย่อมฆ่าสัตว์เจาะจงพระสมณโคดมพระสมณโคดมทรงทราบข้อนั้นอยู่ ก็ยังเสวยเนื้อสัตว์ที่เขาทำเฉพาะตน อาศัยตนทำ ดังนี้

ชนเหล่านั้นจะชื่อว่ากล่าวตรงกับที่เรากล่าวหามิได้ ชื่อว่ากล่าวตู่เราด้วยคำอันไม่เป็นจริง ดูกรชีวกเรากล่าวเนื้อว่า ไม่ควรเป็นของบริโภคด้วยเหตุ ๓ ประการ คือ เนื้อที่ตนเห็น เนื้อที่ตนได้ยิน เนื้อที่ตนรังเกียจ ดูกรชีวก เรากล่าวเนื้อว่าเป็นของไม่ควรบริโภคด้วยเหตุ ๓ ประการ นี้แล

ดูกรชีวก เรากล่าวเนื้อว่า เป็นของควรบริโภคด้วยเหตุ ๓ ประการ คือ เนื้อที่ตนไม่ได้เห็นเนื้อที่ตนไม่ได้ยิน เนื้อที่ตนไม่ได้รังเกียจ ดูกรชีวก เรากล่าวเนื้อว่า เป็นของควรบริโภคด้วยเหตุ ๓ ประการนี้แล.

(พระไตรปิฎกฉบับธรรมทาน
พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ ชีวกสูตร)

-----------------------------------------

ตกลงว่าพระพุทธเจ้าท่านอธิบายละเอียดแล้วครับว่าเนื้อที่บริสุทธิ์ 3 ส่วนคือ 
เนื้อที่ตนไม่ได้เห็นว่าเขาฆ่า 
ไม่ได้ยินว่าเขาฆ่า 
และไม่รังเกียจสงสัยว่าเขาฆ่ามาเพื่อตน 
เหล่านี้ภิกษุสามารถบริโภคได้ครับ...แต่ก็ไม่วายมีคนเถียงพระพุทธเจ้าอีกนะซึ่งก็โชคดีที่เป็นยุคสมัยนี้ เพราะถ้าหากเป็นสมัยก่อนไปยืนเถียงต่อหน้าพระพุทธเจ้าอาจจะโดนธรณีสูบไปนานแล้ว 

ทั้งนี้เหล่าสาวกลัทธิอนุตตรธรรมชอบเถียงเสมอว่า
"เนื้อที่ว่าบริสุทธิทั้งสามส่วนนั้นจะเป็นไปได้อย่างไรเพราะใคร ๆ ก็รู้ว่าสัตว์มันโดนฆ่ามาก่อนถึงได้มาอยู่ในจานแล้วจะอ้างว่าไม่รู้ได้เหรอ ??? คนกินก็ต้องมีส่วนรู้เห็นน่ะสิ ! "

น่านล่ะ..ผมก็อยากให้ทำความเข้าใจว่าคิดมากเกินไปนะครับเพราะที่จริงพระพุทธเจ้าท่านก็ตรัสไว้ชัดเจนแล้ว  แต่ทั้งนี้การที่จะไม่เห็นไม่ได้ยินไม่รังเกียจนั้นท่านให้พิจารณาเหตุเฉพาะหน้าที่ลูกตาเรามองเห็นอยู่นั่น คงไม่มีใครจะไปจ้องจับผิดหรือสืบสาวอดีตมาตั้งแต่ สัตว์มันเริ่มเกิดมายังไง เลี้ยงยังไง ฆ่าอย่างไร นำมาอย่างไร สืบสาวแบบนี้ปัญญาอ่อนมากเพราะถ้างั้นผมจะสืบสาวไปบ้างสิครับว่า  "คนที่กินเจนั่นล่ะฆ่าสัตว์มากยิ่งกว่าซะอีก" เพราะถ้าผมคิดจะสืบสาวหาอดีตแบบเดียวกับที่คนกินเจทำบ้าง...ก็ลองคิดซิว่าผักที่คุณเห็นในจานข้าวนั่นน่ะคุณไม่รู้เหรอครับว่าตั้งแต่เขาเริ่มปลูกต้องพรวนดินมีใส้เดือนตายไปกี่พันตัว มีหนอนตายกี่พันตัว ฉีดยาฆ่าแมลงทำให้แมลงตายไปกี่ล้านตัว ไส่ปุ๋ยพรวนดินทุกวันแมลงก็ตายทุกวัน นกจะกินก็ไม่ได้ช่างไม่มีเมตตาซะเลย พอเก็บผักจนกระทั่งเก็บผักมาขายที่ตลาดนี่ขับรถชนจุลินทรีย์ในอากาศตายไปกี่ตัว ???

แม้แต่การกินข้าวปล่าว เขาก็ต้องฆ่าสัตว์ เริ่มตั้งแต่การไถนา ไส้เดือน กิ้งกือ มด แมลงต่าง ๆ ที่อยู่ตามพื้นดินก็ต้องตายกันเป็นเบือ ข้าวเป็นโรคก็ต้องฉีดยาฆ่า คนกินข้าวก็ไม่พ้นบาปอีก แล้วจะกินอะไรดี? ถึงจะไม่ต้องมีส่วนร่วมในการฆ่าสัตว์ทางอ้อม ??

เห็นใหมครับว่าถ้าเอาความคิดแบบพวกกินเจมาคิดย้อนกลับไปหาพวกคุณบ้างมันคงเป็นโรคประสาทกันทั้งโลกอะไร ๆ ก็กินไม่ได้ทั้งนั้น เพราะฉะนั้นพุทธศาสนิกชนอย่าไปตีความอะไรให้เกินเลยพระพุทธเจ้าจะดีกว่าครับ พระพุทธเจ้าท่านบอกไว้ตรงมากแล้วไม่อ้อมค้อม..จะมีก็แต่ลัทธินอกศาสนาเท่านั้นที่ตีความบิดเบือนให้เป็นอย่างอื่นไป
-----------------------------------------------------------

ตอน : พระพุทธเจ้าไม่เคยบัญญัติให้กินเจ

**เนื้อสัตว์ที่พระพุทธเจ้าห้ามภิกษุฉันมีเพียง 10 อย่างดังนี้
1.เนื้อมนุษย์
2.เนื้อช้าง
3.เนื้อม้า
4.เนื้อสุนัข
5.เนื้องู
6.เนื้อราชสีห์
7.เนื้อหมี
8.เนื้อเสือโคร่ง
9.เนื้อเสือดาว
10.เนื้อเสือเหลือง

แต่เนื้อทั้ง 10 อย่างนี้เป็นข้อห้ามสำหรับพระภิกษุนะครับไม่ได้ห้ามโยม..โดยภิกษุผู้ฉันเนื้อมนุษย์ถือเป็นอาบัติถุลลัจจัย นอกนั้นถือว่าเป็นอาบัติ ทุกกฏ 

เหล่านี้เป็นเนื้อ 10 อย่างที่พระพุทธเจ้าห้ามฉันสำหรับพระภิกษุ นอกนั้นพระพุทธเจ้าไม่ได้ห้ามเลยครับ ส่วนเหตุผลที่ห้ามพระภิกษุฉันเนื้อ 10 อย่างนี้ก็เพราะเป็นที่ติเตียนของชาวบ้าน ทำศรัทธาให้เสื่อมลง และไม่เหมาะสม รวมทั้งคำนึงถึงความปลอดภัยของภิกษุด้วยครับ แต่ไม่เกี่ยวกับการกินเจเลยแม้แต่น้อย 

ทั้งนี้ถ้าพระพุทธเจ้าและพระสงฆ์ฉันเจจริง ๆ จะต้องห้ามฉันเนื้อแค่ 10 อย่างไปทีละอย่างทำไมครับ ป่านนี้ท่านก็คงบัญญัติห้ามเนื้อทุกชนิดข้อเดียวไปเลย   และถ้าหากคนในอินเดียกินเจกันทั้งเมืองจริงพระพุทธเจ้าก็คงไม่จำเป็นต้องบัญญัติให้ภิกษุห้ามฉันเนื้อทั้ง 10 อย่างนี้ แต่เหตุที่ทรงบัญญัติก็เพราะว่ามันมีคนกินเนื้อในสมัยนั้นน่ะสิครับ เมื่อมีเหตุจึงมีการบัญญัติพระวินัยขึ้นมา  การที่พระพุทธเจ้าจะบัญญัติพระวินัยข้อใดจำเป็นต้องมีเหตุเกิดขึ้นเสียก่อนนะครับ  ท่านจะไม่บัญญัติตามใจชอบทั้ง ๆ ที่ไม่มีเหตุเด็ดขาด

**ส่วนเรื่องการขบฉันของพระภิกษุนั้นพระพุทธเจ้าก็ได้ตรัสไว้ในเรื่องโภชนะ 5 และ กาลิก

โภชนะ หมายถึง ของฉัน, ของกิน 
โภชนะทั้ง ๕ ได้แก่ ข้าวสุก ขนมสด ขนมแห้ง ปลา เนื้อ

กาลิก หมายถึงเนื่องด้วยกาล, ขึ้นกับกาล, ของอันจะกลืนกินให้ล่วงลำคอเข้าไปซึ่งพระวินัยบัญญัติให้ภิกษุรับเก็บไว้และฉันได้ภายในเวลาที่กำหนด จำแนกเป็น ๔ อย่าง คือ

๑. ยาวกาลิก รับประเคนไว้และฉันได้ชั่วเวลาเช้าถึงเที่ยงของวันนั้น
เช่น ข้าว ปลา เนื้อ ผัก ผลไม้ ขนมต่างๆ

๒. ยามกาลิก รับประเคนไว้และฉันได้ชั่ววันหนึ่งกับคืนหนึ่ง คือก่อนอรุณของวันใหม่ได้แก่ ปานะ คือ น้ำคั้นผลไม้ที่ทรงอนุญาต

๓. สัตตาหกาลิก รับประเคนไว้แล้วฉันได้ภายในเวลา ๗ วัน
ได้แก่ เภสัชทั้ง ๕

๔. ยาวชีวิก รับประเคนแล้ว ฉันได้ตลอดไปไม่จำกัดเวลา
ได้แก่ ของที่ใช้ปรุงเป็นยา นอกจากกาลิก ๓ ข้อต้น

(ความจริงยาวชีวิก ไม่เป็นกาลิกแต่นับเข้าด้วยโดยปริยายเพราะเป็นของเกี่ยวเนื่องกัน)
ที่มา - พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต)

เรื่องของโภชนะ 5 และกาลิกนี้เป็นไปตามที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ มีในพระไตรปิฏกและมีบรรจุในหลักสูตรนักธรรมชั้นโทที่พระภิกษุใช้เป็นแบบเรียนกันทั่วประเทศ

**พระพุทธานุญาตเนื้อดิบและเลือดสด
[๓๖] ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่งอาพาธเพราะผีเข้า พระอาจารย์ พระอุปัชฌายะช่วยกันรักษาเธอ ก็ไม่สามารถแก้ไขให้หายโรคได้ เธอเดินไปที่เขียงแล่หมู แล้วเคี้ยวกินเนื้อดิบดื่มกินเลือดสด อาพาธเพราะผีเข้าของเธอนั้น หายดังปลิดทิ้ง ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตเนื้อดิบ เลือดสด ในเพราะอาพาธเกิดแต่ผีเข้า.
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๕ พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๕ มหาวรรค ภาค ๒

อธิบายข้อนี้นะครับคือว่าปกติแล้วพระภิกษุถ้าไม่เจ็บป่วยจะฉันเนื้อดิบไม่ได้ เนื้อที่จะนำมาถวายพระต้องทำให้สุกเสียก่อนพระภิกษุจึงจะรับประเคนแล้วฉันได้ แต่ว่าหากเป็นในกรณีเจ็บป่่วยดังที่พระวินัยที่ยกมาให้ดูก็จะฉันได้ครับ

ก็ถ้าพระพุทธเจ้าหรือพระสงฆ์สมัยก่อนกินเจแล้วบัญญัติเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้อย่างไร   ซึ่งก็แสดงให้เห็นว่าพระพุทธเจ้าและพระสงฆ์ท่านก็ไม่ได้ฉันเจอยู่แล้วครับ แต่ท่านก็ฉันตามปกติมิเช่นนั้นพระวินัยเหล่านี้ก็จะมีออกมาไม่ได้  เพราะฉะนั้นเรื่องนี้ก็บอกได้ดีครับว่าพระพุทธเจ้าไม่ได้ฉันเจ และไม่เคยสอนให้กินเจ


ตอน : กินเจไม่นับเป็นบุญ 
และการทานเนื้อสัตว์ที่ได้อย่างถูกต้องไม่ผิดศีล

การฆ่า กับ การกิน ไม่เหมือนกันนะครับต้องแยกให้ออกด้วย  เนื้อสัตว์ที่ได้มาอย่างถูกต้องคือ ปวัตตะมังสะ ซึ่งบริสุทธิทั้งสามส่วนนั้นตามที่ได้อธิบายก่อนหน้านั้นไม่ถือว่าผิดศีลนะครับ เพราะถ้าผิดจริงก็คงจะตกนรกกันทั้งประเทศไปแล้วพระสงฆ์ทั้งโลกก็คงตกนรกกันหมด แต่นี่อะไรกัน..ลัทธิอนุตตรธรรมคล้ายว่าจะเอาเรื่องนี้ยกขึ้นมากดข่มให้ร้ายพระภิกษุสงฆ์ผู้ปฏิบัติชอบเสมอมา แต่กลับยกตัวเองว่าคนกินเจวิเศษยิ่งพระสงฆ์องค์เจ้าแล้วเพียงแค่ตัวเองกินเจก็สามารถกดข่มให้ร้ายภิกษุสงฆ์ได้ ..ขอย้ำว่านะครับว่าการทานเนื้อที่ได้มาอย่างถูกต้องไม่ผิดศีลแน่นอนครับ..พระสงฆ์ทั้งหลายและผู้ทานเนื้อที่ได้อย่างถูกต้องยังคงรักษาศีลได้บริบูรณ์ครับ

ลักษณะของการฆ่าสัตว์หรือปาณาติบาตนั้นจะถือว่าเป็นปาณาติบาตได้ต้องมีองค์ประกอบพร้อมกันทั้ง 5 ประการดังนี้

1. ปาโณ : สัตว์นั้นมีชีวิต
2. ปาณสญฺญิตา : รู้ว่าสัตว์นั้นมีชีวิต
3. วธกจิตฺตํ : มีจิตคิดจะฆ่า
4. อุปกฺกโม : ทำความเพียรเพื่อฆ่า
5. เตน มรณํ : สัตว์ตายเพราะความเพียรนั้น

ถ้ากระทำการฆ่าโดยครบองค์ 5 ประการนี้พร้อมกันทั้งหมด ศีลข้อที่ 1 จึงถือว่าขาด  เพราะฉะนั้นการทานเนื้อสัตว์ที่ได้มาอย่างถูกต้องนั้นนอกจากไม่ครบองค์ประกอบแล้วยังไม่เข้าองค์ประกอบของปาณาติบาตเลยแม้แต่ข้อเดียว การทานเนื้อสัตว์จึงไม่ผิดศีลแน่นอน (เพราะเหล่าพี่น้องทั้งหลายคงไม่มีใครที่วิ่งไล่จับสัตว์เป็น ๆ มาหักคอกินกันสด ๆ  คงไม่มีใครจะกินวัวควายเข้าไปเป็นตัว ๆ หรอกนะครับ)

ส่วนเหตุแห่งบุญหรือวิธีการทำบุญในพระพุทธศาสนาเรียกว่า บุญกิริยาวัตถุ ก็มีกล่าวไว้ดังนี้นะครับ

อย่างแรกคือบุญกิริยาวัตถุ 3 ดังนี้
[๑๒๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุญกิริยาวัตถุ ๓ ประการนี้ ๓ ประการ
เป็นไฉน คือ บุญกิริยาวัตถุสำเร็จด้วยทาน ๑ บุญกิริยาวัตถุสำเร็จด้วยศีล ๑ บุญกิริยาวัตถุสำเร็จด้วยภาวนา ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยทานนิดหน่อย ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยศีลนิดหน่อย ไม่เจริญบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยภาวนาเลย เมื่อตายไป เขาเข้าถึงความเป็นผู้มีส่วนชั่วในมนุษย์ ฯ
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๓ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๕
อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต

และต่อมาคือบุญกิริยาวัตถุ10 ดังนี้
๑. ทานมัย บุญกิริยาวัตถุสำเร็จด้วยทาน
๒. สีลมัย บุญกิริยาวัตถุสำเร็จด้วยศีล
๓. ภาวนามัย บุญกิริยาวัตถุสำเร็จด้วยภาวนา
๔. อปจิติสหคตะ บุญที่สหรคตด้วยนอบน้อม
๕. เวยยาวัจจสหคตะ บุญที่สหรคตด้วยการขวนขวาย 
๖. ปัตตานุปทานมัย บุญสำเร็จด้วยการแผ่ส่วนบุญ 
๗. อัพภานุโมทนมัย บุญสำเร็จด้วยการอนุโมทนา
๘. เทศนามัย บุญสำเร็จด้วยการแสดงธรรม
๙. สวนมัย บุญสำเร็จด้วยการฟังธรรม
๑๐. ทิฏฐุชุกรรม. บุญสำเร็จด้วยการทำความเห็นให้ตรง
พระไตรปิฎก และอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย
ในพระบรมราชูปถัมภ์ พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 427


จากบุญกิริยาวัตถุทั้งหมดที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ไม่มีข้อใหนที่พูดถึงการกินเจแม้แต่ข้อเดียว 
เพราะฉะนั้นพุทธศาสนาไปไม่เคยสอนว่ากินเจแล้วได้บุญครับ



ตอน : นางสุปปิยาผู้ถวายเนื้อขา

[๕๘] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในพระนครราชคฤห์ ตามพระพุทธาภิรมย์แล้วเสด็จพระพุทธดำเนินไปทางพระนครพาราณสี เสด็จพระพุทธดำเนินผ่านระยะทางโดยลำดับถึงพระนครพาราณสีแล้ว ทราบว่า พระองค์ประทับอยู่ ณ อิสิปตนมฤคทายวันเขตพระนครพาราณสีนั้น 

สมัยนั้น อุบาสกสุปปิยะและอุบาสิกาสุปปิยา ๒ คน เป็นผู้เลื่อมใส เป็นทายกกัปปิยการก บำรุงพระสงฆ์อยู่ในพระนครพาราณสี วันหนึ่ง อุบาสิกาสุปปิยาไปสู่อาราม เที่ยวเยี่ยมวิหารและบริเวณทั่วทุกแห่ง แล้วเรียนถามภิกษุทั้งหลายว่า ภิกษุรูปไรอาพาธ ภิกษุรูปไรโปรดให้ดิฉันนำอะไรมาถวาย เจ้าข้า. ครั้งนั้น ภิกษุรูปหนึ่งดื่มยาถ่ายและได้บอกอุบาสิกาสุปปิยาว่า 

ดูกรน้องหญิง อาตมาดื่มยาถ่าย อาตมาต้องการน้ำเนื้อต้ม
อุบาสิกาสุปปิยารับคำว่า ดิฉันจักนำมาถวายเป็นพิเศษ เจ้าข้า 

แล้วไปเรือนสั่งชายคนรับใช้ว่า เจ้าจงไปหาซื้อเนื้อสัตว์ที่เขาขายมา  ชายคนรับใช้รับคำอุบาสิกาสุปปิยาว่า ขอรับกระผม แล้วเที่ยวหาซื้อทั่วพระนครพาราณสีก็มิได้พบเนื้อสัตว์ที่เขาขาย  จึงได้กลับไปหาอุบาสิกาสุปปิยาแล้วเรียนว่า เนื้อสัตว์ที่เขาขายไม่มีขอรับเพราะวันนี้ห้ามฆ่าสัตว์

จึงอุบาสิกาสุปปิยาได้มีความปริวิตกว่า ภิกษุอาพาธรูปนั้นแล เมื่อไม่ได้ฉันน้ำเนื้อต้มอาพาธจักมากขึ้นหรือจักถึงมรณภาพ การที่เรารับคำแล้วไม่จัดหาไปถวายนั้น เป็นการไม่สมควรแก่เราเลย 

ดังนี้แล้วได้หยิบมีดหั่นเนื้อมาเชือดเนื้อขาส่งให้หญิงคนรับใช้สั่งว่า แม่สาวใช้ผิฉะนั้น แม่จงต้มเนื้อนี้แล้วนำไปถวายภิกษุรูปที่อาพาธอยู่ในวิหารหลังโน้น อนึ่ง ผู้ใดถามถึงฉันจงบอกว่าป่วย แล้วเอาผ้าห่มพันขา เข้าห้องนอนบนเตียง.

ครั้งนั้น อุบาสกสุปปิยะไปเรือนแล้วถามหญิงคนรับใช้ว่า แม่สุปปิยาไปไหน? หญิงคนรับใช้ตอบว่า คุณนายนอนในห้อง เจ้าข้า.
จึงอุบาสกสุปปิยะเข้าไปหาอุบาสิกาสุปปิยาถึงในห้องนอน แล้วได้ถามว่า เธอนอนทำไม
อุบาสิกา=ดิฉันไม่สบายค่ะ 
อุบาสก=เธอป่วยเป็นอะไร.
ทีนั้น อุบาสิกาสุปปิยาจึงเล่าเรื่องนั้นให้อุบาสกสุปปิยะทราบ  ขณะนั้น อุบาสกสุปปิยะร่าเริงดีใจว่า อัศจรรย์นักชาวเราไม่เคยมีเลยชาวเรา แม่สุปปิยานี้มีศรัทธาเลื่อมใสถึงแก่สละเนื้อของตนเอง สิ่งไรอื่นทำไมนางจักให้ไม่ได้เล่า แล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค. ถวายบังคมนั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง อุบาสกสุปปิยะนั่งเรียบร้อยแล้ว
ได้กราบทูลคำนี้แด่พระผู้มีพระภาคว่า พระพุทธเจ้าข้า ขอพระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยพระสงฆ์จงทรงกรุณาโปรดรับภัตตาหารของข้าพระพุทธเจ้าในวันพรุ่งนี้เพื่อเจริญมหากุศล และปิติปราโมทย์แก่ข้าพระพุทธเจ้าด้วยเถิด พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์โดยดุษณีภาพ  ครั้นอุบาสกสุปปิยะทราบการรับนิมนต์ของพระผู้มีพระภาคแล้วลุกจากที่นั่ง ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณแล้วกลับไป และสั่งให้ตกแต่งของเคี้ยวของฉันอันประณีตโดยผ่านราตรีนั้น แล้วให้คนไปกราบทูลภัตกาลแด่พระผู้มีพระภาคว่าถึงเวลาแล้วพระพุทธเจ้าข้า ภัตตาหารเสร็จแล้ว.
ขณะนั้นเป็นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสก แล้วถือบาตรจีวรเสด็จไปสู่นิเวศน์ของอุบาสกสุปปิยะ ครั้นถึงแล้วประทับนั่งเหนือพุทธอาสน์ที่เขาจัดถวายพร้อมด้วยพระสงฆ์ จึงอุบาสกสุปปิยะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวายบังคมแล้วได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามอุบาสกสุปปิยะผู้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งว่า อุบาสิกาสุปปิยาไปไหน?
อุ. นางป่วย พระพุทธเจ้าข้า
พ. ถ้าเช่นนั้น เชิญอุบาสิกาสุปปิยามา
อุ. นางไม่สามารถ พระพุทธเจ้าข้า
พ. ถ้าเช่นนั้น พวกเธอช่วยกันพยุงพามา

ขณะนั้น อุบาสกสุปปิยะได้พยุงอุบาสิกาสุปปิยามาเฝ้า พร้อมกันนางได้เห็นพระผู้มีพระภาค แผลใหญ่เพียงนั้นได้งอกเต็ม มีผิวพรรณเรียบสนิท เกิดโลมชาติทันที จึงอุบาสกสุปปิยะและอุบาสิกาสุปปิยา พากันร่าเริงยินดีว่า อัศจรรย์นักชาวเรา ไม่เคยมีเลยชาวเรา พระตถาคตทรงมีฤทธิ์มาก ทรงมีพระอานุภาพมาก เพราะพอเห็นพระองค์เท่านั้น แผลใหญ่โตยังงอกขึ้นเต็มทันที มีผิวพรรณเรียบสนิท เกิดโลมชาติ แล้วอังคาสภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขด้วยขาทนียโภชนียาหารอันประณีตด้วยมือของตน จนยังพระผู้มีพระภาคผู้เสวยเสด็จแล้ว ทรงนำพระหัตถ์ออกจากบาตรให้ห้ามภัตรแล้ว นั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.พระผู้มีพระภาค ทรงชี้แจงให้อุบาสิกาสุปปิยะและอุบาสิกาสุปปิยา เห็นแจ้ง สมาทานอาจหาญ ร่าเริงด้วยธรรมีกถาแล้ว ทรงลุกจากที่ประทับเสด็จกลับ.

** ประชุมสงฆ์ทรงสอบถาม
[๕๙] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้นในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วทรงสอบถามภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุรูปไหนขอเนื้อต่ออุบาสิกาสุปปิยา.
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสเช่นนี้แล้ว ภิกษุรูปนั้นได้ทูลรับต่อพระผู้มีพระภาคว่า ข้าพระพุทธเจ้าได้ขอเนื้อต่ออุบาสิกาสุปปิยาพระพุทธเจ้าข้า

พ. เขานำมาถวายแล้วหรือ ภิกษุ
ภิ. เขานำมาถวายแล้ว พระพุทธเจ้าข้า
พ. เธอฉันแล้วหรือ ภิกษุ
ภิ. ฉันแล้ว พระพุทธเจ้าข้า
พ. เธอพิจารณาหรือเปล่า ภิกษุ
ภิ. มิได้พิจารณา พระพุทธเจ้าข้า

** ทรงติเตียน
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ดูกรโมฆบุรุษ ไฉนเธอจึงไม่ได้พิจารณา แล้วฉันเนื้อเล่า เธอฉันเนื้อมนุษย์แล้ว การกระทำของเธอนั่น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส .... ครั้นแล้วทรงทำธรรมีกถารับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า

** พระพุทธบัญญัติห้ามฉันเนื้อมนุษย์
ดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรดาคนที่มีศรัทธาเลื่อมใสมีอยู่ เขาสละเนื้อของเขาถวายก็ได้ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงฉันเนื้อมนุษย์ รูปใดฉัน ต้องอาบัติถุลลัจจัย อนึ่ง ภิกษุยังมิได้พิจารณา ไม่พึงฉันเนื้อ รูปใดฉัน ต้องอาบัติทุกกฏ.

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๕ พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๕
มหาวรรค ภาค ๒

เหตุการณ์ในครั้งนี้ขอยกมากล่าวอีกครั้งเพราะจะเห็นได้ดีว่าพระพุทธเจ้าและพระสงฆ์ไม่ได้ฉันเจ แต่ทรงฉันอาหารตามปกติ...

มิเช่นนั้นพระสงฆ์รูปนี้จะกล้าเอ่ยปากขอเนื้อได้อย่างไร..
แล้วอุบาสิกาท่านนี้จะกล้าไปหาซื้อเนื้อเพื่อถวายพระได้อย่างไรถ้าพระพุทธเจ้าฉันเจและห้ามฉันเนื้อ
เมื่ออุบาสิกาถวายไปแล้วพระพุทธเจ้าก็มิได้ทรงติเตียนนางแต่ยังชื่นชม รวมทั้งสามีก็ปีติยินดีด้วย
การถวายเนื้อของอุบาสิการท่านนี้มิได้ก่อให้เกิดบาปกรรมขึ้นสักนิดแต่กลับได้บุญอีกต่างหาก
และอุบาสิกาก็ยังได้อานิสงส์อีกหลายประการแม้กระทั่งแผลที่ขาก็กลับหายเป็นปกติอย่างน่าอัศจรรย์
และการที่มีคนไปหาซื้อเนื้อตามท้องตลาดนั่นก็หมายความว่าคนอินเดียในสมัยก่อนก็มีการบริโภคเนื้อตามปกติครับ  (เพราะฉะนั้นคนที่บอกว่าคนอินเดียสมัยก่อนกินเนื้อกันทั้งเมืองจึงไม่เป็นความจริง)

ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะพระพุทธเจ้าและพระสงฆ์ทั้งหลายไม่ได้ฉันเจแต่ฉันตามปกติ...รวมทั้งเหตุการณ์นี้ยังเป็นต้นเหตุแห่งการที่พระพุทธเจ้าบัญญัติห้ามฉันเนื้อมนุษย์ ซึ่งเป็นหนึ่งในเนื้อ 10 อย่างที่ทรงห้าม...ถ้าพระพุทธเจ้าและพระสงฆ์ฉันเจจริง ๆ จะต้องห้ามฉันเนื้อแค่ 10 อย่างไปทีละอย่างทำไมครับ ป่านนี้ท่านก็คงบัญญัติห้ามเนื้อทุกชนิดไปข้อเดียวไปเลย   เพราะฉันนั้นเหตุการณ์นี้ก็บอกได้ดีครับว่าพระพุทธเจ้าไม่ได้ฉันเจ และไม่เคยสอนให้กินเจ
------------------------------------------------


ตอน : นางสามาวดี-(เอตทัคคะในฝ่ายผู้อยู่ด้วยเมตตา)
ผู้ตั้งใจทำแกงไก่ถวายพระพุทธเจ้า

ประวัติพระนางสามาวดีก็ยืนยันได้ดีว่าพระพุทธเจ้าไม่ได้ฉันเจ แต่เรื่องนี้ยาวมากนะครับผมจะขอตัดมาเฉพาะตอนที่สำคัญที่นางสามาวดีทำแกงไก่ถวายพระพุทธเจ้า 
ความเดิมก็คือพระนางสามาวดีเป็นมเหสีของพระเจ้าอุเทน
พระเจ้าอุเทนมีมเหสี 3 คนดังนี้
-นางสามาวดี
-พระนางวาสุลทัตตา
-นางมาคันทิยา

ซึ่งพระนางมาคันทิยา มีความผูกอาฆาตพระพุทธเจ้ามานานแล้วรวมถึงไม่ชอบพระนางสามาวดีจึงต้องการที่กลั่นแกล้งและหาเรื่องใส่ความบุคคลทั้งสองให้ย่อยยับจึงวางแผนหลายประการและหนึ่งในแผนการนั้นขอยกเหตุการเรื่องไก่มาให้ดูกันครับ

** นางสามาวดีถูกใส่ความเรื่องไก่
พระนางมาคันทิยา เมื่อไม่สามารถจะทำให้พระพุทธองค์อับอายจนหนีไปยังเมืองอื่นได้ก็ยิ่งโกรธแค้นมากขึ้น จึงคิดอุบายใส่ความแก่พระนางสามาวดีและบริวารผู้มีศรัทธาในพระพุทธองค์ โดยส่งข่าวไปบอกแก่อาของตนขอให้ส่งไก่เป็น ที่ยังมีชีวิตมาให้ ๘ ตัว และไก่ตายอีก ๘ ตัว เมื่อได้ไก่มาตามต้องการแล้วจึงเข้ากราบทูลพระเจ้าอุเทนว่า:-

มาคันทิยา=“ข้าแต่สมมติเทพ ท่านปุโรหิตส่งไก่มาเป็นบรรณาการแด่พระองค์ เพคะ”
พระราชา=“ผู้ใด มีความชำนาญในการแกงอ่อมไก่บ้าง ?” 
มาคันทิยา=“พระนางสามาวดีกับหญิงบริวาร เพคะ” 

จึงรับสั่งให้ส่งไก่ไปให้พระนางสามาวดีเพื่อจัดการแกงมาถวาย พระนางมาคันทิยา ส่งไก่เป็นไปให้ ส่วนพระนางสามาวดีเห็นว่าไก่ยังมีชีวิตอยู่จึงไม่ทำถวาย เพราะว่าตนสมาทานศีล ๘ ย่อมไม่ฆ่าสัตว์จึงส่งไก่กลับคืนไป

พระนางมาคันทิยา ได้กราบทูลต่อพระสวามีอีกว่า:-
“ถ้าอย่างนั้น ขอพระองค์จงรับสั่งให้ส่งไก่ไปใหม่พร้อมทั้งบอกว่าให้แกงไปถวายแก่พระสมณโคดม”
พระราชาทรงกระทำตามที่พระนางแนะนำ แต่พระนางมาคันทิยาได้เปลี่ยนเอาไก่ที่ตายแล้วส่งไปให้ พระนางสามาวดีเห็นว่าเป็นไก่ที่ตายแล้ว และเป็นการแกงเพื่อนำไปถวายพระสมณโคดม จึงช่วยกันรีบจัดการแกงไปถวายด้วยความปีติและศรัทธา
พระนางมาคันทิยา รู้สึกดีใจที่เหตุการณ์เป็นไปตามแผน จึงกราบทูลยุยงว่า การกระทำของพระนางสามาวดีไม่น่าไว้วางใจดูประหนึ่งว่าเอาใจออกห่างพระองค์ปันใจให้พระสมณโคดม  เวลาใช้ให้แกงมาถวายพระองค์ก็ไม่ทำ แต่พอบอกให้แกงไปถวายพระสมณโคดมกลับทำให้อย่างรับด่วน
พระเจ้าอุเทน ได้สดับคำของพระนางมาคันทิยา แล้วทรงอดกลั้นนิ่งเฉยไว้อยู่ จนกระทั่งพระนางมาคันทิยา ต้องคิดหาอุบายร้ายด้วยวิธีอื่นต่อไป
_______________________________________________


จากเหตุการณ์ที่ยกมาให้ดูนี้ถ้าพระพุทธเจ้าฉันเจ แล้วพระนางสามาวดีจะกล้าแกงไก่ไปถวายได้อย่างไร..พระนางเป็นถึงเอตทัคคะผู้มั่นคงในพระรัตนตรัยและที่สำคัญพระนางก็เป็นถึงพระโสดาบัน..แต่พระนางก็ไม่ได้กินเจ และก็ทำอาหารถวายพระพุทธเจ้าตามปกติ

เพราะฉันนั้นเหตุการณ์นี้ก็บอกได้ดีครับว่าพระพุทธเจ้าไม่ได้ฉันเจ และไม่เคยสอนให้กินเจ.
-------------------------------------------------


ตอน : กินเจ..ไม่ใช่คำสอนพระพุทธเจ้า 
แต่เคยเป็นคำสอนเทวทัตผู้ถูกธรณีสูบลงอเวจีมหานรก 

**ทูลขอวัตถุ ๕ ประการ
ครั้งนั้น พระเทวทัตพร้อมกับบริษัทเข้าเฝ้าพระผู้มี พระภาค เจ้าถวายบังคมแล้วนั่งอยู่ ณ ที่ควร ส่วนข้างหนึ่ง เมื่อนั่งเรียบร้อยแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า พระพุทธเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัส คุณแห่งความเป็นผู้มักน้อย ความสันโดษ ความขัดเกลา ความกำจัด อาการที่น่าเลื่อมใส ความไม่สั่งสม การ ปรารภความเพียร โดยอเนกปริยาย ข้าพระพุทธเจ้า ขอประทานพระวโรกาส 

1.ภิกษุทั้งหลายพึงถือการอยู่ป่า เป็นวัตรตลอดชีวิต รูปใดอาศัยบ้านอยู่ รูปนั้นพึงต้องโทษ 
2.ภิกษุทั้งหลายพึงถือเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตรตลอด ชีวิต รุปใดยินดีกิจนิมนต์ รูปนั้นพึงต้องโทษ 
3.ภิกษุทั้งหลายพึงถือผ้าบังสกุลเป็นวัตรตลอดชีวิต รูปใดยินดี คหบดีจีวร รูปนั้นพึงต้องโทษ 
4.ภิกษุทั้งหลายพึงถือการอยู่โคนไม้เป็นวัตรตลอดชีวิต รูปใดเข้าอาศัยที่มุงที่บัง รูปนั้นพึงต้องโทษ 
5.ภิกษุทั้งหลายไม่พึงฉันปลาและเนื้อตลอดชีวิต รูปใดฉันปลาและเนื้อ รูปนั้นพึงต้องโทษ

(ข้อที่ ๕ นั้นบ่งบอกเป็นนัยว่าในสมัยพุทธกาลพระพุทธเจ้าและพระภิกษุสงฆ์ฉันปลาและเนื้อ)

พระผู้มีพระภาคเจ้ารับสั่งว่า "อย่าเลย เทวทัต" ภิกษุใดปรารถนา ภิกษุนั้นจงถือการอยู่ป่าเป็นวัตร รูปใดปรารถนา จงอยู่ในบ้าน รูปใดปรารถนา จงถือเที่ยวบิณบาตรเป็นวัตร รูปใดปรารถนา จงยินดีกิจ นิมนต์ รูปใดปรารถนา จงถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร รูปใดปรารถนา จงยินดีคหบดีจีวร เราอนุญาตโคนไม้ เป็นเสนาสนะ ๘ เดือน "เราอนุญาตปลาและเนื้อที่บริสุทธิ์โดยส่วนสาม ไม่ได้เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้รังเกียจ"

ครังนั้น พระเทวทัตคิดว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ทรงอนุญาต วัตถุ ๕ ประการ จึงร่าเริงดีใจ พร้อมกับบริษัทลุกจากอาสนะ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า ทำประทักษิณ แล้วกลับไป

**โฆษณาวัตถุ ๕ ประการ
ต่อมา พระเทวทัตพร้อมกับบริษัทเข้าสู่กรุงราชคฤห์แล้ว ประกาศให้ประชาชนเข้าใจวัตถุ ๕ ประการ ว่า ท่านทั้งหลาย พวกอาตมาเข้าไปเฝ้าพระสมณโคดมขอวัตถุ ๕ ประการว่า พระพุทธเจ้าข้า พระผู้มีพระภาค เจ้าตรัสคุณแห่งความเป็นผู้มักน้อย.... การปรารภความเพียร โดยอเนกปริยาย พระพุทธเจ้าข้า วัตถุ ๕ ประการ นี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความเป็นผู้มักน้อย.... การปรารภความเพียร โดยอเนกปรยาย 
ข้าพระพุทธเจ้าขอประทานวโรกาส ภิกษุทั้งหลาย พึงถืออยู่ป่าตลอดชึวิต.... รูปใดฉันปลาและเนื้อ รูปนั้นพึงต้องโทษ วัตถุ ๕ ประการนี้ พระสมณโคดมไม่ทรงอนุญาต แต่พวกอาตมาสมาทานประพฤติตามวัตถุ ๕ ประการนี้

บรรดาประชาชนเหล่านั้น พวกที่ไม่มีศรัทธา.... กล่าวอย่างนี้ว่า พระสมณเชื้อสายศากยบุตรเหล่านี้ เป็นผู้กำจัดมีความประพฤติขัดเกลา ส่วนพระสมณโคดมประพฤติมักมาก ย่อมคิดเพื่อความมักมาก ส่านพวกที่มีศรัทธา.... ย่อมเพ่งโทษ ติเตียน โพทนาว่า ไฉนพระเทวทัตจึงได้พยายามเพื่อทำลายสงฆ์........ 

พระผู้มีพระภาคเจ้า... ทรงสอบถามว่า ดูก่อนเทวทัต ข่าวว่า เธอพยายามทำลายสงฆ์ ทำลายจักร จริงหรือ 

พระเทวทัตทูลรับว่า จริงพระเจ้าข้า 

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า อย่าเลย เทวทัต อย่าชอบใจการทำลายสงฆ์ เพราะการทำลายสงฆ์ มีโทษหนักนัก ผู้ใดทำลายสงฆ์ผู้พร้อมเพรียงกัน ย่อมประสบโทษตั้งกัป ย่อมไหม้ในนรกตลอดกัป ส่วนผู้ ใดสมานสงฆ์ผู้แตกกันแล้วให้พร้อมเพรียงกัน ย่อมประสบบุญอันประเสริฐ ย่อมบันเทิงในโลกสวรรค์ ตลอด กัป อย่าเลย เทวทัต เธออย่าชอบใจการทำลายสงฆ์เลย เพราะการทำลายสงฆ์มีโทษหนักนัก
(พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๗ เป็นพระไตรปิฏกที่มหามกุฏราชวิทยาลัย พิมพ์เล่มที่ ๙ จุลวรรค ทุติยภาค สังเภทขันธกะ )

**จุดจบพระเทวทัตผู้อยากกินเจ
อยู่มาวันหนึ่ง พระเทวทัตอาพาธหนัก เมื่อท่านอาพาธอยู่ได้ 9 เดือนก็ได้ขอให้สานุศิษย์พาท่านมาเพื่อจะเฝ้าพระศาสดา พวกศิษย์จึงหามท่านขึ้นแคร่มาที่วัดพระเชตวัน เมื่อพระศาสดาได้สดับว่าพระเทวทัตถูกหามมาเฝ้าก็ได้ตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า พระเทวทัตไม่มีโอกาสที่จะได้เฝ้าพระองค์ 

กฎแห่งกรรมแสดงผล เมื่อพระเทวทัตและคณะเดินทางมาถึงที่สระในบริเวณพระเชตวัน พวกศิษย์ที่ทำหน้าที่หามได้วางแคร่ลงที่ริมสระและได้ลงไปอาบน้ำกันอยู่นั้น 

...พระเทวทัตได้ลุกขึ้นจากแคร่แล้ววางเท้าลงที่พื้นดินพลันเท้าทั้งสองข้างของท่านก็ถูกธรณีสูบจมหายลงไปในแผ่นดิน...
ที่พระเทวทัตไม่มีโอกาสได้เฝ้าพระศาสดาก็เพราะกฎแห่งกรรมคือครุกรรมกรรมชั่วที่ท่านได้กระทำต่อพระศาสดา หลังจากถูกธรณีสูบแล้วพระเทวทัตได้ไปเกิดในนรกขุมอเวจี อันเป็นนรกที่ถูกทรมานอย่างโหดร้ายรุนแรงอย่างต่อเนื่อง


ภิกษุทั้งหลาย กราบทูลถามพระศาสดาว่า พระเทวทัตเมื่อถูกธรณีสูบแล้วไปเกิดอยู่ ณ ที่ใด 
พระศาสดาตรัสว่า ในอเวจีมหานรก 
เมื่อพระภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า พระเทวทัตเดือดร้อนในโลกนี้จะไปเกิดในที่เดือดร้อนในโลกหน้าอีกหรือไม่ 
พระศาสดาตรัสว่า “เป็นอย่างนั้น ภิกษุทั้งหลาย ชนทั้งหลาย จะเป็นบรรพชิตก็ตาม คฤหัสถ์ก็ตาม มีปกติอยู่ด้วยความประมาท ย่อมเดือดร้อนในโลกทั้งสองทีเดียว”
----------------------------------------------



ตอน : พระพุทธเจ้าตรัสว่าเนื้อไม่ใช่กลิ่นดิบ

การไม่กินเนื้อก็ไม่สามารถพ้นทุกข์ได้

ติสสดาบสทูลถามพระผู้มีพระภาคพระนามว่ากัสสป ด้วยคาถาความว่า
[๓๑๕] สัตบุรุษทั้งหลายบริโภคข้าวฟ่าง ลูกเดือย ถั่วเขียว ใบไม้ เหง้ามัน และผลไม้ที่ได้แล้วโดยธรรม หาปรารถนา
กามกล่าวคำเหลาะแหละไม่ ข้าแต่พระผู้มีพระภาคพระ
นามว่ากัสสป พระองค์เมื่อเสวยเนื้อชนิดใดที่ผู้อื่นทำสำเร็จดีแล้ว ตบแต่งไว้ถวายอย่างประณีต เมื่อเสวยข้าวสุกแห่งข้าวสาลี ก็ชื่อว่าย่อมเสวยกลิ่นดิบ 
ข้าแต่พระองค์  ผู้เป็นเผ่าพันธุ์แห่งพรหม พระองค์ตรัสอย่างนี้ว่า กลิ่น
ดิบย่อมไม่ควรแก่เรา แต่ยังเสวยข้าวสุกแห่งข้าวสาลีกับ
เนื้อนกที่บุคคลปรุงดีแล้ว ข้าแต่พระผู้มีพระภาคพระนาม
ว่ากัสสป ข้าพระองค์ขอทูลถามความข้อนี้กะพระองค์ว่า
กลิ่นดิบของพระองค์มีประการอย่างไร ฯ

พระผู้มีพระภาคพระนามว่ากัสสปตรัสตอบด้วยพระคาถาว่า  

การฆ่าสัตว์ การทุบตี การตัด การจองจำ การลัก การพูดเท็จ การกระทำด้วยความหวัง การหลอกลวง การเรียนคัมภีร์ที่ไร้ประโยชน์ และการคบหาภรรยาผู้อื่น  นี้ชื่อว่ากลิ่นดิบ เนื้อและโภชนะไม่ชื่อว่ากลิ่นดิบเลย 

ชนเหล่าใดในโลกนี้ ไม่สำรวมในกามทั้งหลาย ยินดีใน
รสทั้งหลาย เจือปนไปด้วยของไม่สะอาด มีความเห็น
ว่าทานที่บุคคลให้แล้วไม่มีผล มีการงานไม่เสมอ บุคคล
พึงแนะนำได้โดยยาก นี้ชื่อว่ากลิ่นดิบของชนเหล่านั้น 
เนื้อและโภชนะไม่ชื่อว่าเป็นกลิ่นดิบเลย 

ชนเหล่าใดผู้เศร้าหมอง หยาบช้า หน้าไหว้หลังหลอก ประทุษร้ายมิตร ไม่มีความกรุณา มีมานะจัด มีปกติไม่ให้ และไม่ให้อะไรๆ
แก่ใครๆ นี้ชื่อว่ากลิ่นดิบของชนเหล่านั้น 
เนื้อและโภชนะไม่ชื่อว่ากลิ่นดิบเลย 

ความโกรธ ความมัวเมา ความเป็นคนหัวดื้อ ความตั้งอยู่ผิด มายา ฤษยา ความยกตน ความถือตัว ความดูหมิ่น และความสนิทสนมด้วย
อสัตบุรุษทั้งหลาย นี้ชื่อว่ากลิ่นดิบ 
เนื้อและโภชนะไม่ชื่อว่ากลิ่นดิบเลย

ชนเหล่าใดในโลกนี้ มีปรกติประพฤติลามก กู้หนี้มาแล้วไม่ใช้ พูดเสียดสี พูดโกง เป็นคนเทียม เป็นคนต่ำทราม กระทำกรรมหยาบช้า นี้ชื่อว่ากลิ่นดิบของชนเหล่านั้น เนื้อและโภชนะไม่ชื่อว่ากลิ่นดิบเลย 

ชนเหล่าใดในโลกนี้ ไม่สำรวมในสัตว์ทั้งหลาย ชักชวนผู้อื่นประกอบการเบียดเบียน ทุศีล ร้ายกาจ หยาบคายไม่เอื้อเฟื้อ นี้ชื่อว่ากลิ่นดิบของชนเหล่านั้น เนื้อและโภชนะไม่ชื่อว่ากลิ่นดิบเลย 

สัตว์เหล่าใดกำหนัดแล้วในสัตว์เหล่านี้ โกรธเคือง ฆ่าสัตว์ ขวนขวายในอกุศลเป็นนิตย์ ตายไปแล้วย่อมถึงที่มืด มีหัวลงตกไปสู่นรก 
นี้ชื่อว่ากลิ่นดิบของชนเหล่านั้น เนื้อและโภชนะไม่ชื่อว่ากลิ่นดิบเลย 

การไม่กินปลาและเนื้อ ความเป็นคนประพฤติเปลือย ความเป็นคนโล้น การเกล้าชฎา ความเป็นผู้หมักหมมด้วยธุลี การครองหนังเสือพร้อมทั้งเล็บการบำเรอไฟ หรือแม้ว่าความเศร้าหมองในกายที่เป็นไปด้วยความปรารถนา ความเป็นเทวดา การย่างกิเลสเป็นอันมากในโลก มนต์และการเซ่นสรวง ยัญและการซ่องเสพฤดู ย่อมไม่ยังสัตว์ผู้ไม่ข้ามพ้นความสงสัยให้หมดจดได้  
ผู้ใดคุ้มครองแล้วในอินทรีย์ทั้งหกเหล่านั้น รู้แจ้งอินทรีย์แล้ว ตั้งอยู่ในธรรม ยินดีในความเป็นคนตรงและอ่อนโยน ล่วงธรรมเป็นเครื่องข้องเสียได้ ละทุกข์ได้ทั้งหมดผู้นั้นเป็นนักปราชญ์ ไม่ติดอยู่ในธรรมที่เห็นแล้ว และฟังแล้ว ฯ

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสบอกความข้อนี้บ่อยๆ ด้วยประการ-
ฉะนี้ ติสสดาบสผู้ถึงฝั่งแห่งมนต์ได้ทราบความข้อนั้นแล้ว
พระผู้มีพระภาคผู้เป็นมุนี ทรงประกาศด้วยพระคาถาทั้ง
หลาย อันวิจิตรว่า บุคคลผู้ที่ไม่มีกลิ่นดิบ ผู้อันตัณหา
และทิฐิไม่อาศัยแล้ว ตามรู้ได้ยาก ติสสดาบสฟังบท
สุภาษิตซึ่งไม่มีกลิ่นดิบ อันเป็นเครื่องบรรเทาเสียซึ่งทุกข์
ทั้งปวง ของพระพุทธเจ้าแล้ว เป็นผู้มีใจนอบน้อม
ถวายบังคมพระบาทของตถาคต ได้ทูลขอบรรพชาที่อาสนะนั่นแล ฯ
จบอามคันธสูตรที่ ๒
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๕ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๗
ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต


ตอน : ศาสนาพุทธกับฮินดูเป็นคนละอย่าง..อย่าปนกัน


สาวกลัทธิอนุตตรธรรมมักโกหกว่าพระพุทธเจ้ากินเจและได้มีข้ออ้างชวนเชื่อที่พูดกันบ่อย ๆ ดังนี้



ถอดความจากภาพบน^^
"ชาติภูมิกำเนิดของพระพุทธเจ้าเป็นชาวฮินดูอยู่ในวรรณะสูงแม้แต่ชาวฮินดูธรรมดาก็ไม่เสพเนื้อสัตว์มาตั้งแต่พุทธกาลหลายพันปีมาแล้วจวบจนกระทั่งปัจจุบันนี้ และบรรดาศากยวงค์อันเป็นเชื้อสายของพระพุทธเจ้าปัจจุบันนี้ก็ยังมีอยู่ล้วนเป็นผู้ไม่เสพเนื้อสัตว์ "

ขอชี้แจงข้อความนี้ว่า>>
เรื่องที่บอกว่าพระพุทธเจ้าเป็นฮินดูนั้น โถ...น่าตลกจริง ๆ ที่มีคนบอกว่าพระพุทธเจ้าเป็นฮินดู ทั้ง ๆ ที่ท่านเป็นศาสดาของพุทธศาสนาแท้ ๆ ตั้งแต่ท่านสำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าท่านก็ได้ทิ้งความเชื่อเดิมไปหมดสิ้นแล้ว ทิ้งทั้งกิเลสและวาสนา แถมยังประกาศศาสนาใหม่ขึ้นมาอีกด้วย แล้วจะมาว่าท่านเป็นฮินดูได้ยังไงกันทั้ง ๆ ที่ท่านประกาศศาสนาพุทธแท้ ๆ เอ้อ...คนพูดนี่เอาอะไรคิดกันแน่...แต่ผมไม่ว่าหรอกครับเพราะผมทราบว่าแนวคิดนี้มันมาจากสิ่งที่สอนกันในลัทธิอนุตตรธรรมและมีในหนังสือกินเจที่ถ่ายทอดผิด ๆ กันมานานในลัทธิทุกวันนี้หนังสือเล่มนี้ก็ยังคงเผยแพร่กันในลัทธิอยู่ ผมเองก็ได้อ่านมาหมดแล้วล่ะครับหนังสือของลัทธิแทบจะทุกเล่ม

ช่วงเวลาประวัติศาสตร์ทางศาสนาอินเดียจะแบ่งออกเป็น 3 ช่วงดังนี้
1-ยุคพระเวท
2-ยุคพราหมณะ
3-ยุคอุปนิษัท

และการเจริญทางศาสนาในอินเดียนั้นในประวัติศาสตร์ ยุคอุปนิษัทจะเริ่มตั้งแต่ช่วง 100-150 ปีก่อนสมัยพุทธกาล ช่วงนี้เริ่มมีวิวัฒนาการใหม่ ๆ เกิดขึ้นไม่เหมือนยุคพระเวทที่ยึดถือพระเวท แต่ในยุคนี้ชาวอินเดียเริ่มที่จะฉุกคิดและหาความจริงในชีวิตว่าลำพังการบูชายัญและการบวงสรวงแบบเดิม ๆ นั้นไม่สามารถพ้นทุกข์ได้จึงต้องการหาวิธีพ้นทุกข์ทีแท้จริง ทำให้ในยุคนี้เกิดมีปราชณ์เกิดขึ้นมากมายที่ปฏิวัติแนวคิดเดิม ๆ ในยุคนี้ไกล้ยุคพุทธกาลมากแล้วเรียกว่าเป็นยุค อุปนิษัท ยุคนี้ชาวอินเดียเริ่มเป็นตัวของตัวเองมากขึ้นไม่ผูกพันกับประเพณีดั้งเดิมที่ถ่ายทอดมาตั้งแต่สมัยพระเวท จึงทำให้เกิดนักคิดอิสระที่มีแนวคิดแหวกแนวออกไปจากระบบเดิมโดยนักคิดพวกนี้ล้วนปฏิเสธพระเวท เช่น พวกปริพาชก สันยาสี นิครันถะ และพวกครูทั้ง6 พวกนี้เป็นนักคิดอิสระทั้งนั้นไม่ใช่พราหมณ์ รวมทั้งพระพุทธเจ้าของเราด้วยครับ

เพราะฉะนั้นในยุคนั้นเราจึงแบ่งศาสนาและทัศนะต่าง ๆ ของอินเดียออกเป็นสองพวกใหญ่คือ
1-พวกไวทิกวาทะ หมายถึงพวกที่ยังนับถือพระเวทเป็นปทัฏฐาน
2-พวกอไวทิกวาทะ หมายถึงพวกที่ปฏิเสธพระเวทและไม่ยอมรับประเพณีของพราหมณ์ ซึ่งก็มีลัทธิของครูทั้ง6 ,เชน และพุทธศาสนาด้วย

และที่สำคัญศาสนาฮินดูก็เกิดทีหลังศาสนาพุทธตั้งนานนะครับ  เพราะศาสนาฮินดูแต่ก่อนก็ไม่เคยมีมาก่อนจะมีก็แต่พราหมณ์  จากนั้นศาสนาฮินดูจึงมาเกิดขึ้นทีหลังโดยเป็นการต่อยอดมาจากพราหมณ์โดยเกิดขึ้นในช่วงพุทธศตวรรษที่ 13 โดยศังกราจารย์ เพราะฉะนั้นในยุคพุทธกาลจึงยังไม่มีฮินดู   เรื่องที่พระพุทธเจ้าเป็นฮินดูจึงเป็นไปไม่ได้  

ศาสนาในอินเดียก็ไม่ใช่จะมีแค่ศาสนาพราหมณ์ฮินดูอย่างเดียวนะครับ แต่มีมากมายหลายหลาก

พระพุทธเจ้าไม่เคยเชื่อตามประเพณีทั่วไปที่แต่ละลัทธิทำกันอยู่แล้วครับจึงได้ค้นหาทางหลุดพ้น  จนเมื่อตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าก็เป็นอันว่าประเพณีความเชื่ออื่น ๆ ก็ละทิ้งไปหมดสิ้นเพราะสิ่งเหล่านั้นท่านถือว่าเป็น สีลัพพตปรามาศ หรือการถือศีลพรตแบบงมงาย
พระพุทธเจ้าท่านก็ฉันปกติเหมือนเราท่านนี่ล่ะครับ มีทั้งเนื้อและผักที่พิจารณาแล้ว

แต่ใครจะ กินเจ ก็กินได้ตามใจครับเป็นสิทธิส่วนบุคคล
แต่.....อย่าเอาพุทธศาสนาและพระพุทธเจ้าเข้าไปเกี่ยวข้อง อย่าเอาพระศาสนาไปเป็นเครื่องมือหากิน อย่าลากพระพุทธเจ้าไปเกี่ยวข้องกับลัทธิตัวเอง อย่าลากพระศาสนาไปตีความใหม่ ๆ ให้เข้ากับมิจฉาตัวเอง เรื่องกินเจพระพุทธเจ้าไม่เคยสอนไม่เคยบัญญัติและไม่เคยปฏิบัติมาก่อนอยู่ดี ๆ จะมาตั้งลัทธิเขียนตำราใหม่บิดเบือนพระศาสนาเป็นอันไม่สมควร

หากนับถือพุทธศาสนาก็ควรศึกษาให้เข้าใจไม่ใช่จะเอาหลาย ๆ ศาสนามายำรวมกันมั่วไปหมด ทั้งพุทธ ฮินดู เต๋า ฉันเอาหมดสุดท้ายเลยมั่วไปหมดจนแยกไม่ออก

สุดท้ายจะขอแนะนำบุคคลสำคัญของเมื่องไทยซึ่งเป็นพระสงฆ์ไทยที่สืบเชื้อสายมาจากตระกูลศากยะวงค์โดยตรง หรือพูดง่าย ๆ ว่าเป็นสายเลือดเดียวกันกับต้นตระกูลพระพุทธเจ้าที่สืบเชื้อสายมาจนปัจจุบันนี้คือ  พระอนิล ธมฺมสากิโย หรือ พระ ดร.อนิล ศากยะ


ภาพบน^^พระอนิล ธมฺมสากิโย หรือ พระ ดร.อนิล ศากยะ

ติตตามประวัติคร่าว ๆ ได้ตามลิงค์นี้ครับ>> พระ ดร.อนิล ศากยะ
ปัจจุบันท่านประจำอยู่ที่วัดบวรนิเวศวิหาร ทุกท่านสามารถตามไปดูได้ว่าท่านกินเจหรือไม่ ซึ่งเราก็จะเห็นว่าท่านเองก็ฉันตามปกติ ไม่ได้ฉันเจ และไม่มีคำสอนใหนที่จะบอกให้กินเจ..
ลองตามไปสอบถามท่านดูนะครับนี่เชื้อสายศากยะวงค์แท้ ๆ 


-----------------------------------------------------------

ตอน : พระพุทธเจ้างดงามเสมอโดยไม่จำเป็นต้องฉันเจ

ยังมีคำครหาในหมู่นักทานเจที่พูดกันมานานแล้วซึ่งเหมือนจะเป็นการนำเอาพระพุทธเจ้าไปวิพากวิจารย์โดยความไม่รู้ดังนี้


ถอดความจากภาพบน^^
"พระพุทธเจ้ามีพระจริยาวัตรงดงามทรงฉันโดยอาการสำรวม อาหารผักผลไม้ย่อมสะดวกต่อการขบฉันเป็นอันมาก เนื้อสัตว์ที่คนเราธรรมดากินมีทั้งก้าง กระดูก หนัง ลำบากต่อการกินต้องฉีกดึงแทะกัด ล้วนเป็นอาการกินที่ไม่สำรวม ไม่น่าดูเลย กริยาอย่างนี้ย่อมไม่พบในองค์พระบรมศาสดาเป็นแน่"

จากข้อความด้านบน^^ขอชี้แจงว่า 
พระพุทธเจ้านั้นทรงมีพระจริยาวัตรในการฉันที่เรียบร้อยเสมอโดยไม่เกี่ยวกับอาหารที่ฉันแต่อย่างไร   ธรรมดาพระวินัยหรือสิกขาบทของพระภิกษุสงฆ์นั้นเคร่งครัดมากนะครับ  โดยสิกขาบท 227 ข้อที่พระจะต้องสวดทุกกึ่งเดือนนั้นนอกจากจะมีการห้ามกระทำความผิดหนักเบาที่มากมายแล้วยังมีหมวดที่ว่าด้วยเรื่องของมารยาทในการฉันอาหารไว้ด้วยนะครับดังนี้

เสขิยวัตร หมวดที่ ๒ 
โภชนปฏิสังยุต(ว่าด้วยการฉันอาหาร) มี 30 ดังนี้
๑. พึงทำศึกษาว่า "เราจักรับบิณฑบาตโดยเอื้อเฟื้อ." 
๒. พึงทำศึกษาว่า "เราจักจ้องดูอยู่ในบาตรรับบิณฑบาต." 
๓. พึงทำศึกษาว่า "เราจักรับบิณฑบาตมีสูปะเสมอกัน.” 
๔. พึงทำศึกษาว่า "เราจักรับบิณฑบาตเสมอขอบ." 
๕. พึงทำศึกษาว่า "เราจักฉันบิณฑบาตโดยเอื้อเฟื้อ." 
๖. พึงทำศึกษาว่า "เราจักจ้องดูอยู่ในบาตรฉันบิณฑบาต." 
๗. พึงทำศึกษาว่า "เราจักฉันบิณฑบาตไม่แหว่ง." 
๘. พึงทำศึกษาว่า "เราจักฉันบิณฑบาตมีสูปะเสมอกัน." 
๙. พึงทำศึกษาว่า "เราจักไม่ขยุมลงแต่ยอดฉันบิณฑบาต." 
๑๐. พึงทำศึกษาว่า "เราจักไม่กลบแกงก็ดี กับข้าวก็ดี ด้วยข้าวสุก อาศัยความอยากได้มาก." 
๑๑. พึงทำศึกษาว่า "เราไม่อาพาธ จักไม่ขอสูปะก็ดี ข้าวสุกก็ดี เพื่อประโยชน์แก่ตนฉัน." 
๑๒. พึงทำศึกษาว่า "เราจักไม่เพ่งโพนทะนาแลดูบาตรของผู้อื่น." 
๑๓. พึงทำศึกษาว่า "เราจักไม่ทำคำข้าวให้ใหญ่นัก." 
๑๔. พึงทำศึกษาว่า "เราจักทำคำข้าวให้กลมกล่อม." 
๑๕. พึงทำศึกษาว่า "เมื่อคำข้าวยังไม่นำมาถึง เราจักไม่อ้าช่องปาก." 
๑๖. พึงทำศึกษาว่า "เราฉันอยู่ จักไม่สอดมือทั้งนั้นเข้าในปาก.” 
๑๗. พึงทำศึกษาว่า "ปากยังมีคำข้าวเราจักไม่พูด." 
๑๘. พึงทำศึกษาว่า "เราจักไม่ฉันเดาะ คำข้าว.” 
๑๙. พึงทำศึกษาว่า "เราจักไม่ฉันกัดคำข้าว." 
๒๐. พึงทำศึกษาว่า "เราจักไม่ฉันทำให้ตุ่ย.” 
๒๑. พึงทำศึกษาว่า "เราจักไม่ฉันสลัดมือ." 
๒๒. พึงทำศึกษาว่า "เราจักไม่ฉันทำเมล็ดข้าวตก." 
๒๓. พึงทำศึกษาว่า "เราจักไม่ฉันแลบลิ้น.” 
๒๔. พึงทำศึกษาว่า "เราจักไม่ฉันทำเสียงจับๆ.”
๒๕. พึงทำศึกษาว่า "เราจักไม่ฉันทำเสียงซูดๆ 
๒๖. พึงทำศึกษาว่า "เราจักไม่ฉันเลียมือ." 
๒๗. พึงทำศึกษาว่า "เราจักไม่ฉันขอดบาตร." 
๒๘. พึงทำศึกษาว่า "เราจักไม่ฉันเลียริมฝีปาก." 
๒๙. พึงทำศึกษาว่า "เราจักไม่รับโอน้ำด้วยมือเปื้อนอามิส." 
๓๐. พึงทำศึกษาว่า "เราจักไม่เทน้ำล้างบาตรมีเมล็ดข้าวในละแวกบ้าน."

จากข้างบนจะเห็นได้ว่าพระภิกษุสงฆ์นั้นมีพระวินัยที่ครอบคลุมไปทุกด้านแม้แต่เรื่องการขบฉันก็ยังต้องเป็นไปแบบที่ผู้ดีเขาทำกัน  เพราะฉะนั้นไม่ว่าพระพุทธเจ้าจะฉันอะไรนั้นก็ย่อมจะมีกิริยาที่งดงามเสมอครับ    

อีกอย่างนะครับการพูดโดยความไม่รู้ในลักษณะนี้ดูเหมือนกับเหล่าผู้ทานเจต้องการจะบอกว่า คนกินผักดูงดงามกว่าคนกินเนื้อหรืออย่างไร ?  ฮะฮะ...ความคิดเช่นนี้ช่างตลกสิ้นดี  การที่กล่าวหาว่าคนกินเนื้อจะต้องมีการกัดแทะและต้องมีเศษก้างหรือกระดูกนั้น  อยากถามว่าคนกินผักไม่ต้องกัดไม่ต้องแทะอย่างนั้นหรือ  แล้วคนกินผักนี่ไม่มีเศษหลงเหลือเลยหรือครับ? ไม่ต้องปลอกเปลือกใช่ใหมครับ? ไม่ต้องทิ้งเมล็ด ไม่ต้องดึงรากออกเหรอครับ?  เวลากินก็กินมันทั้งเปลือก กินทั้งราก  กินได้ทั้งอ่อนและแก่จนถึงโคนต้นและรากอย่างนั้นหรือครับ?  เอ้อหนอ ผมเองก็เพิ่งรู้ว่าคนกินผักเขาทำแบบนั้นกันเนอะสงสัยคงจะเคี้ยวเงาะทั้งเมล็ด  กินลำใยทั้งเปลือกและเมล็ดหรือกินผักมันทั้งรากอะไรทำนองนั้น? ดีนะครับที่ยังไม่กินปลาทูทั้งเข่ง(อย่านะเตือนไว้ก่อน55) เรื่องพวกนี้ลองไปถามตัวเองดูนะครับ

เฮ้อ..ผมว่าอย่าเอาเรื่องพวกนี้มาเถียงกันเลยดีกว่าไอ้เรื่องกิริยาหรือวิธีการทานอาหารเนี่ยนะมันอยู่ที่การฝึกตนนะครับคนกินผักหรือเนื้อก็ไม่แตกต่างกัน
-------------------------------------------------------

ตอน : ซากพืชสะอาดกว่าซากสัตว์อย่างนั้นหรือ?

ยังมีความเชื่ออีกอย่างหนึ่งครับที่แพร่กระจายในหมู่นักทานเจซึ่งดูแล้วก็เป็นเรื่องหยุมหยิมไม่ใหญ่โตมากนักแต่ดูจะน่าขำขันซะมากกว่าที่บางคนในกลุ่มนี้ยึดมั่นถือมั่นว่าซากพืชสะอาดกว่าซากสัตว์แถมยังดูถูกคนที่กินเนื้อว่าเป็นป่าช้าเดินได้น่าเกลียดน่ากลัวเหมือนดังภาพที่ได้เห็นครับ 
จากภาพบน^^คือความเชื่อที่แพร่หลายในหมู่นักทานเจโดยเฉพาะเหล่าสาวกลัทธิอนุตตธรรม   ซึ่งอาจจะจริงว่าท้องของคนที่ทานเนื้ออาจจะเป็นป่าช้าที่ฝังศพอย่างที่ลัทธิเขาว่าก็เป็นได้   แต่...!ถ้าพิจารณาให้ดีคนที่กินเจล่ะครับ  คนกินเจที่ทานผักลงไปทุกวันก็ไม่ได้สะอาดไปกว่ากันเปรียบไปท้องของคนที่กินเจมันก็เป็นหลุมขยะเปียกเคลื่อนที่ที่ฝังไม่เต็มเช่นกันนะครับลองคิดให้ดี 
        
       แล้วคนที่กินเจจะเถียงว่าระหว่างขยะที่เป็นผักมันสะอาดกว่าเนื้อหรือครับ?  ไม่ว่ากองขยะนั้นจะเป็นซากพืชหรือซากสัตว์มันก็ล้วนแล้วแต่หมักหมมโสกโครกไม่มีอะไรดีไปกว่ากัน  เมื่อผ่านลิ้นไปแล้วขับถ่ายออกมาก็เป็นของเสียเน่าเหม็นไม่ต่างกันเลย  จนสุดท้ายแล้วเมื่อจบชีวิตไม่ว่าคนกินเจหรือกินเนื้อก็เหลือแต่ซากศพเน่าเหม็นไม่ต่างกันเลยครับ  เพราะฉะนั้นอย่ามัวแต่ทนงว่าตัวดีกว่าใคร ๆ กะอีแค่ซากพืชที่อยู่ในท้องเลยครับ
-----------------------------------------------------


ตอน : สุกรมัทวะหรืออาหารมื้อสุดท้ายของพระพุทธเจ้า
คือเนื้อหมู หรือ เห็ดกันแน่


หลายคนก็สันนิษฐานว่าคือเนื้อหมูอ่อนแต่คนที่กินเจก็พยายามจะบอกให้เป็นเห็ดอย่างเดียวโดยไม่ยอมฟังเหตุผลอื่น..เรื่องนี้เป็นที่สับสนมานานมิไช่เฉพาะรุ่นนี้แม้แต่คนรุ่นหลังก็ไม่สามารถฟันธงลงไปได้แต่ขออธิบายตามความแห่งบูรพาจารย์และพระไตรปิฏกอย่างย่อ ๆ ดังนี้

สูกรมัททวะ หากแปลตามศัพท์แปลว่า เนื้อหมูอ่อน เพราะสูกรก็คือสุกร มัททวะก็คือ ความอ่อนโยน ความนิ่มนุ่ม หรือความอ่อนนุ่ม สูกร กับ มัททวะ ก็แปลว่า เนื้อหมูที่อ่อนนุ่ม หรือเนื้อหมูที่อ่อนนิ่ม สูกรมัททวะถ้าแปลตรง ๆ อย่างนี้ก็ไม่มีปัญหา 

**แต่หากพิจารณาตามพระพุทธโฆษาจารย์และบูรพาจารย์หลายท่านได้ให้ความหมายคือ 7ประการดังนี้


๑. ปวัตตมังสะ เนื้อที่สมควรที่พระจะบริโภคได้ตามที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาติ ไม่ใช่อุทิศมังสะ คือไม่ใช่เนื้อที่เห็นเขาฆ่าเพื่อตน ได้ยินว่าเขาฆ่าเพื่อตน และก็สงสัยว่าเขาฆ่าเพื่อตน พ้นจากมลทิน ๓ ข้อนี้ เรียกว่าปวัตตมังสะ ปวัตมังสะนั้นนุ่มสนิท. อธิบายว่า ให้จัดปวัตตมังสะนั้น ทำให้สุกอย่างดี.

๒.เป็นชื่อ ของข้าวสุกอ่อน ที่จัดปรุงด้วยปัญจโครส นมสด นมส้ม เนยใส เปรียง เนยแข็ง และถั่ว เหมือนของสุกชื่อว่า ควปานะ ขนมผสมน้ำนมโค เวลานี้ในอินเดียยังกินกันอยู่ 

๓. รสายน(ระ-สา-ยะ-นะ)วิธี ชื่อว่าสูกรมัททวะ ก็รสายนวิธีนั้นมาในคัมภีร์รสายนศาสตร์ นายจุนทะตบแต่งรสายนวิธีด้วยหมายใจว่า พระผู้มีพระภาคอย่าเพิ่งปรินิพพานเสียเลย หมายความว่าคือยา เป็นโอสถชนิดหนึ่ง 


๔. เป็นหน่อไม้ไผ่ ที่พวกสุกรแทะดุน. 

๕. เห็ด ที่เกิดในถิ่นที่พวกสุกรแทะดุน.



๖. บ่อเกิดแห่งรสชนิดหนึ่ง อันได้นามว่า สุกรอ่อน. หมายถึงเนื้อสุกรอ่อนเพราะหากว่าแก่ไปเนื้อจะหยาบ

๗. อีกพวกหนึ่งเห็นว่า น่าจะเป็นอาหารบำรุงประเภทโสม ซึ่งมีพวกสมุนไพรผสมอยู่ด้วย ซึ่งเรียกว่า สูกรมัทวะ


ทุกข้อสันนิษฐานนั้นมีจริงและเป็นไปได้ทั้งหมด


ในพระไตรปิฎก ฉบับฉลองศิริราชสมบัติ ๖๐ ปี กล่าวไว้ในเชิงอรรถ ว่า สูกรมัทวะ หมายถึง เนื้อสันของสุกรที่เจริญเติบโตอยู่ในวัยเจริญพันธุ์ ซึ่งกล่าวกันว่า อ่อนนุ่ม และอุดมด้วยไขมัน ได้รับการจัดแจงปรุงรสอย่างดี 

มีมติของอาจารย์พวกหนึ่งกล่าวว่า คำว่า สูกรมัทวะ หมายถึง ชื่อของวิธีปรุงน้ำซุปเบญจโครสผสมด้วยข้าวสุกนุ่ม(ข้อ๒) 

นอกจากนี้ ยังมีอาจารย์ทั้งหลายกล่าวว่า “ชื่อว่าสูกรมัทวะ ได้แก่วิธีปรุงยาบำรุงกำลัง (รสายนวิธี) ชนิดหนึ่ง ซึ่งนายจุนทะตั้งใจปรุงเป็นพิเศษ ด้วยหวังว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าจะไม่พึงปรินิพพาน” อนึ่งในสูกรมัทวะนั้น เหล่าเทวดาในมหาทวีปทั้ง ๔ ซึ่งมีทวีปเล็กจำนวน ๒,๐๐๐ ทวีป เป็นบริวาร ต่างพากันใส่โอชารสเข้าไป (นัย ที.ม.อ. ๑๗๒)


ทางมหายานส่วนมากอาจสรุปเป็นข้อ ๔ , ๕ เพราะต้องการปรับปรุงให้เข้ากับความเชื่อทางมหาญานส่วนมากที่ทานเจ 

แต่ทีนี้ในทางลัทธิอนุตตรธรรมนี้ต้องการให้แปลตามข้อที่ ๔ และ ๕ เท่านั้นก็เนื่องจากไปลอกเอาทางมหายานมาปรับปรุงและยังต้องการสนับสนุนความคิดของลัทธิจึงกล่าวว่าต้องเป็นข้อ ๕ เท่านั้นโดยไม่ศึกษาและไม่กล่าวถึงข้ออื่นเลย ที่สำคัญคือต้องการกล่าวว่าพระพุทธเจ้าทานเจ เพื่อสนับสนุนลัทธิตน

จากที่กล่าวมาเฉพาะเรื่องนี้หากพระพุทธเจ้าทานเจจริง ๆ ข้อสันนิษฐานของเหล่าบูรพาจารย์ก็จะต้องแคบเข้ามาคือจะมีเพียงข้อ ๓, ๔, ๕, ๗ เท่านั้นจะต้องไม่มีข้อ 1, 2,6 ให้สันนิษฐานได้ แต่เนื่องจากพระพุทธเจ้านั้นไม่ได้ทานเจท่านก็ทานอาหารปกติอย่างที่เรา ๆ ท่าน ทานกันนี่ล่ะ 

ความจริงเรื่อง สุกรมัททวะ เป็นเรื่องเล็กน้อยไม่ว่าจะเป็นเช่นไรก็ไม่น่าจะพูดให้เกิดประเด็นได้แต่ทางลัทธินี้ได้พยายามที่จะบอกว่าพระพุทธเจ้าฉันเจให้ได้ พยายามสร้างประเด็นมาตลอดโดยวนเวียนแต่คำสอนในลัทธิทั้งที่ไม่เป็นจริง มีกระทู้มีเอกสารและหนังสือออกมาหลายเล่มจนกระทั่งชวนทะเลาะกับกลุ่มอื่นว่าพระพุทธเจ้าฉันเนื้อหรือไม่ หากเพื่อน ๆ เห็นหัวข้อเช่นนี้หรือใครที่ต้องการโยงไปสู่เรื่องนี้ให้จริงให้ได้ก็ให้สันนิษฐานไว้เถิดว่ามาจากลัทธินี้ ! เพื่ออะไรล่ะ ๆ ก็เพื่อบอกว่ากลุ่มอื่นไม่ถูกต้อง  เพื่อยกตนว่าดีกว่าคนทั่วไป  และสนับสนุนความชอบธรรมให้ลัทธิตนเท่านั้น


จากข้อสันนิษฐานทั้ง7ข้อและข้อมูลทั้งหมดเป็นเรื่องของประวัติศาสตร์และเป็นเพียงข้อสันนิษฐานเท่านั้นแต่ความจริงยังไม่มีใครที่จะฟันธงลงไปได้ การจะฟันธงลงไปได้นั่นเป็นเพียงความเห็นส่วนตัวแต่ละบุคคลเท่านั้น
โดยการวินิจฉัยที่ปรากฏเริ่มแรกคือ
พระอรรถกถาจารย์ในสุมังคลวิลาลินี คือท่านพระพุทธโฆษาจารย์ นั่นเองได้ให้นัยอธิบายสูกรมัททวะนี้ไว้ ๓ นัยคือ ๓ ข้อแรกข้างบน เพราะท่านไม่แน่ใจเหมือนกันว่า อะไรแน่ สมัยแต่งอรรถกถานั้นเป็นสมัยหลังพุทธปรินิพพานแล้วพันปี และท่านผู้แต่งก็คือพระพุทธโฆษาจารย์ และท่านก็เป็นชาวอินเดียอยู่แคว้นมคธแท้ ๆ ท่านก็ยังไม่แน่ใจเลยว่า สูกรมัททวะคืออะไรพวกเราเองซึ่งห่างจากสมัยนั้น (สมัยแต่งอรรถกถา) อีกตั้งหนึ่งพันห้าร้อยปี จะแน่ใจได้อย่างไร แม้พระพุทธโฆษาจารย์ ท่านก็มิได้ตัดสินลงไปว่าสูกรมัททวะนี้คืออะไร ข้อความเหล่านี้ปรากฏอยู่ในสุมังคลวิลาลินี อรรถกถาแห่งทีฆนิกาย ตอนแก้มหาปรินิพพานสูตร 

คัมภีร์ที่ ๒ คือคัมภีร์ปรมัตถทีปนีท่านผู้แต่งคือท่านธรรมปาลจริยะ เป็นคนรุ่นหลังพระพุทธโฆษาจารย์เล็กน้อย เป็นชาวอินเดียเหมือนกัน ท่านก็ยังไม่แน่ใจเหมือนกันว่า สูกรมัททวะนั้นได้แก่อะไรกัน
แต่ท่านก็ให้นัยแปลกจากพระพุทธโฆษาจารย์อีก คือให้ไว้ใน ๔ ข้อหลังข้างบน พ้องกับท่านพระพุทธโฆษาจารย์ก็มี แปลกกันก็มี
ตรงกับนัยในมังคลวิลาลินีเหมือนกัน 
เพราะฉะนั้น ตามมติในสองคัมภีร์นี้ เราก็ได้ความว่า แม้แต่พระโบราณาจารย์ก็ไม่สามารถจะตัดสินอะไรลงไปแน่นอนว่า สูกรมัททวะนั้นได้แก่อะไรแน่ ก็เมื่อเป็นเช่นนี้เราทั้งหลายซึ่งห่างไกลจากสมัยของท่านตั้ง ๑,๕๐๐ ปี เพราะสมัยแต่งอรรถกถานั้นก็หลังพุทธเจ้าปรินิพพานแล้วประมาณ ๑,๐๐๐ ปี เราห่างจากท่านประมาณ ๑,๕๐๐ ปี ถ้ารวมพุทธกาลแล้วเราห่างตั้ง ๒,๕๐๐ ปีเศษ จะวินิจฉัยสูกรมัททวะได้อย่างไร


แต่ตามข้อสันนิษฐานทั้ง 7 ข้อนั้นมีจริงและเป็นไปได้ทั้งหมดและต้องเป็น 1 ในนั้นแน่นอนเพียงแต่ไม่สามารถฟันธงลงไปได้ เพราะฉะนั้นการฟันธงลงไปต้องอาศัยความเห็นส่วนตัวพิจารณากันเองซึ่งยุคหลังจากนั้นก็มีการฟันธงกันหลายอย่างแต่ก็ล้วนอยู่ใน 7 ข้อนี้ นั่นหมายความว่าข้อสรุปในยุคหลังทุกสิ่งอันเป็นเพียงความเห็นส่วนตัวของอาจารย์ชั้นหลังที่แต่ละคนต้องต้องใช้วิจารณญานกันเอง

แต่ประเด็นที่สำคัญกว่านั้นคือ จุดประสงค์ในการฉันอาหาร การฉันแบบภิกษุท่านไม่ได้คิดว่าฉันเนื้อหรือฉันเจแต่ท่านฉันอาหาร ซึ่งบริสุทธิ์เพื่อดำรงชีวิตให้บำเพ็ญธรรมต่อไปและท่านพิจารณาแล้วก่อนฉันทุกคำกลืน 

ข้าพเจ้าเพียงขออนุญาติเสนอข้อมูลที่กว้างขึ้นให้เห็นทุกข้อ
เพื่อให้ไม่ติดอยู่เพียงข้อเดียวตามที่ลัทธินี้นำเสนอและปฏิเสธข้ออื่น

----------------------------------------------------


ตอน : มนุษย์ไม่ใช่สัตว์กินพืช 

แต่เป็นสัตว์ที่กินทั้งเนื้อและพืช(ตามหลักวิทยาศาสตร์)


มีความเชื่อผิด ๆ ที่ถ่ายทอดกันมานานแล้วในหมู่คน กินเจ ที่ว่ามนุษย์เป็นสัตว์กินพืชโดยขอยกเอาความเชื่อผิด ๆ นั้นมาให้ดู 3 ประเด็นดังนี้
****
1-โครงสร้างร่างกายของมนุษย์เป็นสัตว์กินพืชซึ่งแตกต่างจากสัตว์กินเนื้อ ฟันของมนุษย์มีลักษณะแบบไม่แหลมคมพอที่จะกัดหรือฉีกเนื้อหนังและกระดูกของสัตว์

2-ลำไส้ ของมนุษย์เราจะมี ความยาว เหมือน สัตว์กินพืช ที่ใช้ย่อยอาหารจำพวกพืชผักได้ดีและมีประสิทธิภาพกว่าอาหารจำพวกเนื้อสัตว์ ... แต่ลักษณะลำไส้ของ สัตว์กินเนื้อ นั้นจะสั้นกว่ามาก สังเกตุได้จากสัตว์ประเภทนี้หลังจากการล่าแล้ว จะกินแล้วนอนและอีกไม่นานจะถ่ายออกมา เนื่องจากระบบ การย่อย และ การขับถ่าย นั้นต่างกัน

3-การรับรส และ การตอบสนอง ทางธรรมชาติของมนุษย์ ยกตัวอย่างได้เช่น ผลไม้สด และ เนื้อสด ( ไม่ผ่านการปรุงแต่งแต่อย่างใดจากธรรมชาติ ) แน่นอนมนุษย์สามารถ รับรสชาติจากผลไม้สด ๆ นั้นได้ทันทีโดยไม่ต้องผ่านการปรุงรสชาติแต่อย่างใด ผิดกับเนื้อสดนั้น แค่ได้กลิ่นก็กลับมีอาการต่อต้านทางธรรมชาติ เช่น เหม็นคาว 
( ที่หอมหวนชวนกิน เพราะผ่านการปรุงรส และการตกแต่ง )"
****
จากความเชื่อข้างบนนี้^^ขอชี้แจงว่า
เป็นความเชื่อที่ผิด ๆ โดยขาดการศึกษาที่เพียงพอ   ข้อมูลที่ยกมาให้ดูเนี่ยก็มาจากสาวกลัทธิอนุตตรธรรมทั้งนั้น แล้วก็มีการบรรยายในการประชุม 3 วันที่ลัทธินี้จัดกันทุกปี รวมทั้งยังเผยแพร่กันต่อ ๆ ไปในหมู่นักกินเจของลัทธิ

                          ***ขอชี้แจง 2 ประเด็นแรก***
ผมจะบอกว่าข้อมูลทั้งหลายเหล่านี้เป็นความเชื่อและข้อสันนิษฐานกันเองมั่ว ๆ ในลัทธิที่สั่งสอนกันมานานแล้วทุกรุ่นเพื่อต้องการจะโยงให้เข้ากับลัทธิตัวเองซึ่งเป็นสัจธรรมของลัทธินี้  เพราะโลกใบนี้มีหลายคนที่พยายามทำตัวเป็นนักวิทยาศาสตร์ทั้งที่ตัวเองไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์เลย  ผมจะบอกให้นะครับว่า...มนุษย์ไม่ใช่สัตว์ที่กินพืช แต่มนุษย์เป็นสัตว์ที่กินทั้งเนื้อและพืช(Omnivore)...ลองไปศึกษาดูนะครับตั้งแต่เริ่มวิวัฒนาการมนุษย์ตั้งแต่ยุคหินมนุษย์เป็นสัตว์ที่กินเนื้อมาก่อนด้วยซ้ำไปแล้วค่อยมาพัฒนากินพืชผสมกันในช่วงหลัง ซึ่งก็ทำให้มนุษย์เป็นสัตว์ที่กินทั้งสัตว์และพืช

รูปร่างของฟันของสัตว์แต่ละชนิดจะมีความสัมพันธ์กับชนิดอาหาร ดังนี้

1-สัตว์กินเนื้อ (Carnivore) 
2-สัตว์กินพืช (Herbivore) 
3-สัตว์ที่กินทั้งพืชและเนื้อสัตว์ (Omnivore) 


การที่ลัทธินี้บอกว่ามนุษย์เป็นสัตว์กินพืชนั้นผิดแน่นอนนะครับเราลองมาดูตามหลักวิทยาศาสตร์ครับ

-สัตว์กินพืช (Herbivore) 
ได้แก่ สัตว์ที่มีเท้ามีลักษณะเป็นแบบกีบ เช่น วัว ควาย กวาง และสัตว์กินพืชอื่นๆ สัตว์กินพืชจะมีฟันหน้าเฉพาะที่ขากรรไกรล่าง ส่วนทางด้านบนจะเป็นแผ่นแข็ง เพื่อใช้รับการฟันด้านล่าง ในการกัดกินหญ้าและพืชต่างๆ ฟันจะมีช่องว่างขนาดใหญ่อยู่ระหว่างฟันหน้าและฟันด้านใน ฟันกรามมีลักษณะแบบเรียบและเรียงชิดกัน ช่วยใช้สามารถบดเคี้ยวพืชที่เหนียวๆ โดยสัตว์เหล่านี้จะไม่มีเขี้ยวหรือฟันหั่น สัตว์กินพืชบางพวกจะมีแบคทีเรียอยู่ในกระเพาะอาหาร มีไว้สำหรับการย่อยเซลลูโลสของพืชที่กินเข้าไป สัตว์กินพืชนี้จะกินหญ้าเข้าไปเก็บไว้ในร่างกาย จากนั้นมันสามารถที่จะสำรอกอาหารที่มันกลืนไปแล้วออกมาเคี้ยวใหม่ เรียกพฤติกรรมนี้ว่าการ เคี้ยวเอื้อง จึงทำให้สัตว์กินพืช เช่น วัว ควาย มีกระเพาะอาหารถึงสี่ห้อง 

คุณก็ลองดูเอาแล้วกันว่า ฟันของมนุษย์กับฟันของวัวควายมันเหมือนกันใหม คุณไปส่องกระจกดูตัวเองมันก็ไม่เหมือนกันรวมทั้งลักษณะต่าง ๆ ของระบบย่อยอาหารก็ไม่มีเหมือนกันเลยนะครับ หรือว่าคุณเองเคยทานอาหารแล้วสำรอกออกมาเคี้ยวใหม่เหมือนควายเคี้ยวเอื้อง...เพราะฉะนั้นเรื่องที่ว่ามนุษย์เป็นสัตว์กินพืชให้ตัดทิ้งไปได้เลย

ที่นี้การที่ใครจะยกเอาลักษณะฟันสัตว์ทั้ง 2 ประเภทมากล่าวอ้าง คือสัตว์กินพืช และ สัตว์กินเนื้อ นั่นมันยังไม่ครบนะครับเพราะลักษณะฟันของสัตว์ไม่ได้มีแค่ 2 ประเภท  แต่มันยังมีอีก 1 ประเภทคือสัตว์ที่กินทั้งพืชและเนื้อสัตว์ซึ่งผมจะกล่าวดังนี้

-สัตว์ที่กินทั้งพืชและเนื้อสัตว์ (Omnivore) 
เช่น ลิง สุนัข แมว จะมีฟันที่เหมาะทั้งการกินเนื้อและกินพืช ขากรรไกรสามารถเคลื่อนไหวได้ทั้งแบบขึ้นลงและทางด้านข้าง ฟันจะประกอบด้วยฟันตัด เป็นฟันที่มีปลายคมสำหรับตัด เขี้ยวเป็นฟันที่ใช้จับและฉีก ฟันกรามจะใช้สำหรับกัดและบดอาหาร ระบบทางเดินอาหารของสัตว์พวกนี้สามารถย่อยสลายได้ทั้งพืชและสัตว์ 
อ้างอิง>>เรื่องของ (For Fun)


ซึ่งถ้าเรายกข้อมูลทางวิทยาศาสตร์มาพูดให้ครบก็จะทราบความจริงได้ครับ แต่ผมก็ไม่ทราบว่าทำไมลัทธิอนุตตรธรรมถึงได้หยิบมาแค่ด้านเดียวแล้วก็สรุปแบบมั่ว ๆ ซึ่งก็ทำแบบนี้กันมานานมากแล้วอยากถามว่าลัทธิอนุตตรธรรมมีจุดประสงค์อะไรกันแน่...???


***ชี้แจงประเด็นที่ 3***
       ที่ลัทธินี้ยกเรื่องการรับรสและการตอบสนองของมนุษย์ระหว่างเนื้อสัตว์และผักสดที่ไม่ต้องผ่านการปรุง ผมได้ชี้แจงตามหลักวิทยาศาสตร์ไปแล้วนะครับว่ามนุษย์เป็นสัตว์ที่กินได้ทั้งเนื้อและพืช     แต่ส่วนวิธีการกินนั้นคุณจะเอามนุษย์ไปเปรียบเทียบกับสัตว์เดรัจฉานนั้นไม่ถูกต้อง เพราะมนุษย์มีวิจารญานที่ดีกว่ามาก รู้จักคิดและพัฒนาสิ่งรอบข้างได้   คงไม่มีใครที่จะไปวิ่งไล่จับสัตว์เป็น ๆ มาหักคอกินแบบสด ๆ หรอกครับ ทุกคนก็ต้องทำให้ถูกตามหลักโภชนาการเพื่อสุขภาพที่ดี  แม้แต่พวกที่กินเจเองก็ยังมีการปรุงอาหารเช่นกันนี่ครับ ได้ผักมาก็ต้องล้าง ต้องปลอกเปลือก  ต้องตัดต้องหั่น ต้องนำไปปรุงให้สุก แล้วก็มีปรุงออกมาตั้งหลายเมนูแถมยังทำเลียนแบบเนื้อสัตว์ด้วยซ้ำไปมีทั้ง หมูเจ ไก่เจ หมึกเจ กุ้งเจ แหนมเจ ปลาร้าเจ เป็ดเจ ไส้กรอกเจ แฮมเจ โอ่ย..อีกสารพัด ซึ่งผมก็ไม่ทราบจุดประสงค์เช่นกัน(ดูแล้วมันจะยึดติดมากกว่าด้วยซ้ำ) ตกลงไม่ว่าจะกินเจหรือเนื้อก็ต้องปรุงทั้งนั้นล่ะครับเพราะผมก็ไม่เคยเห็นคนกินเจต้องยืนแทะผลไม้ทั้งเปลือกหรือขุดหลุมอยู่แบบสัตว์เช่นกัน  แล้วก็ไม่เห็นว่าคนกินเจจะกินแต่ผักเดิม ๆ ไปทุกวัน 

ส่วนสัตว์ทั้งหลายถ้าเขารู้จักคิดพิจารณาได้อย่างมนุษย์เขาก็คงจะไม่วิ่งไล่ล่าสัตว์ฉีกเป็นอาหารสด ๆ หรอกครับ   ถ้าสัตว์เขาทำได้ทุกอย่างแบบที่มนุษย์ทำก็คงจะปรุงอาหารได้หลายเมนูแข่งกับมนุษย์เช่นกัน   ผมว่าเรื่องแบบนี้อย่าเอามาเปรียบเทียบดีกว่าครับเพราะถ้ามนุษย์มีความคิดความสามารถเท่ากับสัตว์เดรัจฉานก็คงจะไม่เรียกว่ามนุษย์   แต่ถ้าเราจะเอามารตฐานของสัตว์เดรัจฉานมาตั้งเป็นข้อเปรียบเทียบให้มนุษย์ต้องลดตัวลงไปมันก็คงน่าอนาถไม่น้อย

สุดท้ายนี้ลองไปฟังนักวิทยาศาสตร์ตัวจริงเขาบรรยายเองนะครับในหัวข้อ "มนุษย์ไม่ใช่สัตว์กินพืช"  (คลิกดูในยูทูปตามลิงค์นี้ครับ)


---------------------------------------------------------------------

ตอน : เมื่อกินเจไม่ได้บุญ
แล้วกินแบบใหนที่ได้บุญได้ปัญญาตามหลักพุทธศาสนา

พระพุทธเจ้าได้ตรัสสั่งสอนวิธีกินให้ได้บุญไว้มากมายครับซึ่งถือว่าเป็นการกินเพื่อความหลุดพ้นอย่างแท้จริง โดยไม่เกี่ยวกับเจหรือเนื้อ แต่อยู่ที่การพิจารณาทุกอย่างที่กินให้เกิดปัญญาเพื่อความหลุดพ้น ซึ่งเป็นวิธีที่ภิกษุทั้งหลายใช้พิจารณาอาหารทุกวันทั้งก่อนฉันและ เมื่อฉันแล้ว   แต่เราทุกท่านก็สามารถใช้ได้เช่นกันครับดังจะขอยกมาคร่าว ๆ ต่อไปนี้


___ตังขณิกปัจจเวกขณ์___
(บทนี้เป็นบทที่ภิกษุใช้พิจารณาอาหารทุกครั้งก่อนที่จะฉัน)

ปะฏิสังขา โยนิโส ปิณฑะปาตัง ปะฏิเสวามิ
=เราย่อมพิจารณาโดย แยบคาย แล้วฉันบิณฑบาต
เนวะทะวายะ=ไม่ให้เป็นไปเพื่อความเพลิดเพลินสนุกสนาน
นะมะทายะ=ไม่ให้เป็นเพื่อความเมามันเกิดกำลังพลังทางกาย 
นะมัณฑะนายะ = ไม่ให้เป็นไปเพื่อประดับ
นะ วิภูสะนายะ = ไม่ให้เป็นไปเพื่อตกแต่ง, 
ยาวะเทวะ อิมัสสะ กายัสสะ ฐิติยา 
=แต่ให้เป็นไปเพียงเพื่อความตั้งอยู่ได้แห่งกายนี้
ยาปะนายะ = เพื่อความเป็นไปได้ของอัตภาพ
วิหิงสุปะระติยา = เพื่อความสิ้นไปแห่งความลำบากทางกาย
พรัหมะจะริยานุคคะหายะ 
=เพื่ออนุเคราะห์แก่การประพฤติพรหมจรรย์ 
อิติ ปุราณัญจะ เวทะนัง ปะฏิหังขามิ 
=ด้วยการทำอย่างนี้, เราย่อมระงับเสียได้ซึ่งทุกขเวทนาเก่า คือความหิว
นะวัญจะ เวทะนัง นะ อุปปาเทสสามิ 
=และไม่ทำทุกขเวทนาใหม่ให้เกิดขึ้น 
ยาตะรา จะ เม ภะวิสสะติ อะนะวัชชะตา จะ ผาสุวิหาโร จาติ 
=อนึ่ง ความเป็นไปโดยสะดวกแห่งอัตตภาพนี้ด้วย ความเป็นผู้หาโทษมิได้ด้วย, และความเป็นอยู่โดยผาสุกด้วย, จักมีแก่เรา ดังนี้.


___อตีตปัจจเวกขณปาฐะ___
(บทนี้ภิกษุใช้พิจารณาอาหารที่ได้ฉันไปแล้วในแต่ละวัน)

อัชชะ มะยา อะปัจจะเวกขิต๎วา โย ปิณฑะปาโต ปะริภุตโต 
=บิณฑบาตใดอันเราฉันแล้วไม่ทันพิจารณาในวันนี้
โส เนวะ ท๎วายะ = บิณฑบาตนั้นเราฉันแล้ว, ไม่ใช่เป็นไปเพื่อความเพลิดเพลินสนุกสนาน
นะ มะทายะ = ไม่ใช่เป็นไปเพื่อความเมามันเกิดกำลังพลังทางกาย
นะ มัณฑะนายะ = ไม่ใช่เป็นไปเพื่อประดับ
นะ วิภูสะนายะ = ไม่ใช่เป็นไปเพื่อตกแต่ง
ยาวะเทวะ อิมัสสะ กายัสสะ ฐิติยา 
=แต่ให้เป็นไปเพียงเพื่อความตั้งอยู่ได้แห่งกายนี้
ยาปะนายะ = เพื่อความเป็นไปได้ของอัตภาพ
วิหิงสุปะระติยา = เพื่อความสิ้นไปแห่งความลำบากทางกาย,
พ๎รัห๎มะจะริยานุคคะหายะ = เพื่ออนุเคราะห์แก่การประพฤติพรหมจรรย์
อิติ ปุราณัญจะ เวทะนัง ปะฏิหังขามิ 
= ด้วยการทำอย่างนี้ เราย่อมระงับเสียได้ซึ่งเวทนาเก่าคือความหิว
นะวัญจะ เวทะนัง นะ อุปปาเทสสามิ 
= และไม่ทำเวทนาใหม่ให้เกิดขึ้น
ยาต๎รา จะ เม ภะวิสสะติ อะนะวัชชะตา จะ ผาสุวิหาโร จาติ 
= อนึ่ง ความเป็นไปโดยสะดวกแห่งอัตภาพนี้ด้วย ,ความเป็นผู้หาโทษมิได้ด้วย,และความเป็นอยู่โดยผาสุกด้วย, จักมีแก่เรา ดังนี้. 


___ธาตุปัจจเวกขณ์___
(บทนี้ภิกษุใช้พิจารณาอาหารว่าเป็นเพียงธาตุ ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา 
ไม่ใช่แม้แต่คำว่าเนื้อหรือผัก อันเป็นพื้นฐานแห่งวิปัสสนาญานต่อไป)

ยะถา ปัจจะยัง ปะวัตตะมานัง ธาตุมัตตะ เมเวตัง 
= สิ่งเหล่านี้นี่เป็นสักว่าธาตุตามธรรมชาติเท่านั้น กำลังเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยอยู่เนืองนิจ
ยะทิทังปิณฑะปาโต ตะทุปะภุญชะโก จะปุคคะโล 
= สิ่งเหล่านี้ คือบิณฑบาต และคนผู้บริโภคบิณฑบาตนั้น
ธาตุมัตตะโก = เป็นสักว่าธาตุตามธรรมชาติ
นิสสัตโต = มิได้เป็นสัตวะอันยั่งยืน 
นิชชีโว = มิได้เป็นชีวะอันเป็นบุรุษบุคคล
สุญโญ = ว่างเปล่าจากความหมายแห่งความเป็นตัวตน
สัพโพ ปะนะยัง ปิณฑะปาโต อะชิคุจ ฉะนิโย 
= ก็บิณฑบาตทั้งหมดนี้ ไม่เป็นของน่าเกลียดมาแต่เดิม 
อิมัง ปูติกายัง ปัตตะวา 
= ครั้นมาถูกเข้ากับกาย อันเน่าอยู่เป็นนิจนี้แล้ว
อะติวิยะ ชิคุจฉะนีโย ชายะติ
ย่อมกลายเป็นของน่าเกลียดอย่างยิ่ง ไปด้วยกัน


__อาหารเรปฏิกูลสัญญา__ 
(กรรมฐานว่าด้วยการพิจาณอาหาร)

(ขอยกบางส่วนมาคร่าว ๆ ดังนี้)
(หน้าที่ 198)สมาธินิเทศ ปริจเฉทที่ ๑๑

๑. อาหาเรปฏิกูลสัญญากถา
บัดนี้ ถึงลำดับการแสดงวิธีเจริญอาหาเรปฏิกูลสัญญา ซึ่งได้ยกขึ้นแสดงไว้อย่างนี้ว่า สัญญาอย่างหนึ่งซึ่งรองลำดับอรูปสมาบัติ ดังนี้

อาหาร ๔ อย่าง
ในคำเหล่านั้น คำว่าอาหาร ได้แก่สภาพซึ่งนำกำลังมาให้ อาหารนั้นมี ๔ อย่างคือ
๑. กวฬิงการาหาร อาหารที่ทำเป็นคำ ๆ
๒. ผัสสาหาร อาหารคือผัสสะ
๓. มโนสัญเจตนาหาร อาหารคือมโนสัญเจตนา
๔. วิญญาณาหาร อาหารคือวิญญาณ

ผลที่อาหารนำมา
ถามว่า ก็ในอาหารทั้ง ๔ นี้ อาหารอะไรนำผลอะไรมาให้ ? แก้ว่า กวฬิงการาหารนำรูปมีโอชาเป็นที่ ๘ มาให้ ผัสสาหารนำเวทนาทั้ง ๓ มาให้ มโนสัญเจตนาหารนำปฏิสนธิในภพทั้ง ๓ มาให้ วิญญาณาหารนำนามรูปในขณะถือปฏิสนธิมาให้

ภัยของอาหาร
ในอาหารเหล่านั้น ความใคร่เป็นภัยสำหรับกวฬิงการาหาร การเข้าไปใกล้เป็น ภัยในผัสสาหาร การก่อให้เกิดเป็นภัยในมโนสัญเจตนาหาร ปฏิสนธิเป็นภัยในวิญญาณาหาร

อุปมาของอาหาร
ก็บรรดาอาหารซึ่งมีภัยอยู่ประจำอย่างนี้นั้น กวฬิงการาหารพึงแสดงโดยพระโอวาทอันเปรียบเหมือนเนื้อบุตร ผัสสาหารพึงแสดงโดยพระโอวาทอันเปรียบเหมือนโคไม่มีหนัง มโนสัญเจตนาหารพึงแสดงโดยพระโอวาทอันเปรียบเหมือนหลุมถ่านเพลิง วิญญาณาหารพึงแสดงโดยพระโอวาทอันเปรียบเหมือนหอกหลาว

(หน้าที่ 199)
กวฬิงการาหารประสงค์ในที่นี้
ก็ในบรรดาอาหารทั้ง ๔ เหล่านี้ กวฬิงการาหารอย่างเดียวซึ่งแยกเป็นชนิดได้แก่อาหารที่ใช้บริโภค ใช้ดื่ม ใช้เคี้ยว และใช้ลิ้ม ท่านประสงค์เอาว่าอาหารในที่นี้

อาหาเรปฏิกูลสัญญา
ความสำคัญหมาย ซึ่งเกิดขึ้นด้วยอำนาจการถือเอาอาการน่าเกลียดในอาหารนั้น ชื่อว่าอาหาเรปฏิกูลสัญญา

พิจารณาความปฏิกูลโดยอาการ ๑๐
พระโยคีผู้ต้องการเจริญปฏิกูลสัญญาในอาหารนั้น ทั้งนี้จำต้องเรียนกรรมฐานแม้บทเดียวไม่ให้คลาดเคลื่อนจากที่เรียนมา ไปในที่ลับเร้นอยู่ พึงพิจารณาความเป็นของปฏิกูลในกวฬิงการาหาร ซึ่งมีประเภทได้แก่อาหารที่ใช้บริโภค ใช้ดื่ม ใช้เคี้ยว และใช้ลิ้ม โดยอาการ ๑๐ อย่าง คืออย่างไร ? คือ
๑. โดยการไป
๒. โดยการแสวงหา
๓. โดยการบริโภค
๔. โดยที่อยู่
๕. โดยหมักหมม
๖. โดยยังไม่ย่อย
๗. โดยย่อยแล้ว
๘. โดยผล
๙. โดยหลั่งไหลออก
๑๐ โดยเปื้อน

ดูเพิ่มเติมได้ที่>>
วิสุทธิมรรค เล่ม ๒ ภาคสมาธิ ปริเฉทที่ ๑๑ สมาธินิเทศ หน้าที่ ๑๙๘ - ๒๐๐
________________________________________________

ดูกรภิกษุทั้งหลาย 
ก็ภิกษุเป็นผู้รู้ประมาณในโภชนะอย่างไร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พิจารณาโดยแยบคายแล้วย่อมกลืนกินซึ่งอาหารมิใช่เพื่อจะเล่น มิใช่เพื่อจะมัวเมา มิใช่เพื่อประเทืองผิว มิใช่เพื่อจะตกแต่ง เพียงเพื่อร่างกายนี้ดำรงอยู่ได้ เพื่อยังอัตภาพให้เป็นไป เพื่อกำจัดความลำบาก เพื่ออนุเคราะห์พรหมจรรย์ ด้วยหวังว่า จักกำจัดเวทนาเก่า และจักไม่ยังเวทนาใหม่ให้บังเกิดขึ้น ความเป็นไป ความที่ร่างกายไม่มีโทษ และความอยู่สำราญจักมีแก่เรา ด้วยอาการอย่างนี้ ภิกษุเป็นผู้รู้ประมาณในโภชนะอย่างนี้แล
(พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๑ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๓
อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต)

นอกจากนี้ยังมีกล่าวไว้ใน..ปัพพชิตอภิณหปัจจเวกขณ์ 10 (ธรรมที่บรรพชิตควรพิจารณาเนืองๆ) ซึ่งกล่าวไว้ชัดเจนว่า 

"บัดนี้เรามีเพศต่างจากคฤหัสถ์แล้ว อาการกิริยาใดๆ ของสมณะ เราต้องทำอาการกิริยานั้นๆ  การเลี้ยงชีพของเราเนื่องด้วยผู้อื่น
เราควรทำตัวให้เขาเลี้ยงง่าย"
_______________________________________________

ผู้สนใจลองตามไปดูการสวดพิจารณาอาหารในยูทูปได้ตามนี้ครับ




ตอน : ต้นกำเนิดการกินเจ
เดิมทีก็ไม่ใช่คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า

โดยต้นกำเนิดเทศการกินเจนั้นมีหลายตำนานนะครับขอยกมาให้ดูดังนี้

__ตำนานที่ 1
กล่าวกันว่า การกินเจเริ่มขึ้นเพื่อรำลึกถึงนักรบ "หงี่หั่วท้วง" ซึ่งเป็นทหารชาวบ้านของจีนที่ต่อสู้ต้านทานกองทัพแมนจูอย่างกล้าหาญ ฝ่ายแมนจูมีปืนไฟของชาวตะวันตกที่ฝ่ายจีนไม่มี นักรบหงี่หั่วท้วงเหล่านี้จะประกอบพิธีกรรมนุ่งขาวห่มขาว ไม่กินเนื้อสัตว์และผักที่มีกลิ่นฉุน และท่องบริกรรมคาถาตามความเชื่อของจีน เชื่อกันว่าจะสามารถป้องกันปืนไฟได้ แต่ก็ไม่ประสบผล ครั้นจีนพ่ายแพ้แมนจู ชายชาวจีนถูกบังคับให้ไว้ผมอย่างชาวแมนจู ซึ่งสร้างความคับแค้นให้แก่ชาวจีนอย่างมาก ชาวจีนจึงรำลึกถึงนักรบหงี่หั่วท้วงเหล่านี้ด้วยสำนักในบุญคุณ

__ตำนานที่ 2
เพื่อเป็นการประกอบพิธีกรรมเพื่อสักการบูชาพระพุทธเจ้าในอดีตกาล 7 พระองค์และพระมหาโพธิสัตว์อีก 2 พระองค์ รวมเป็น 9 พระองค์ด้วยกัน หรืออีกนัยหนึ่งเรียกว่า “ดาวนพเคราะห์” ทั้ง 9 ได้แก่ พระอาทิตย์ พระจันทร์ พระอังคาร พระพุธ พระพฤหัสบดี พระศุกร์ พระเสาร์ พระราหู และพระเกตุ ในพิธีกรรมบูชานี้สาธุชนในพระพุทธศาสนาสละเวลาทางโลกมาบำเพ็ญศีลงดเว้นเนื้อสัตว์และแต่งกายด้วยชุดขาว

__ตำนานที่ 3
ผู้ถือศีลกินเจในพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาของชาวจีนในประเทศไทย เพื่อสักการบูชาพระพุทธเจ้าในอดีลกาล 7 พระองค์ ดังมีในพระสูตร ปั๊กเต๊าโก๋ว ฮุดเชียวไจเอียงชั่วเมียวเกง กล่าวไว้คือ พระวิชัยโลกมนจรพุทธะ พระศรีรัตนโลกประภาโมษอิศวรพุทธะ พระเวปุลลรัตนโลกวรรณสิทธิพุทธะ พระอโศกโลกวิชัยมงคลพุทธะ พระวิสุทธิอาศรมโลกเวปุลลปรัชญาวิภาคพุทธะ พระธรรมมติธรรมสาครจรโลกมโนพุทธะ พระเวปุลลจันทรโภคไภสัชชไวฑูรย์พุทธะ และพระมหาโพธิสัตว์อีก 2 พระองค์ คือพระศรีสุขโลกปัทมอรรถอลังการโพธิสัตว์และพระศรีเวปุลกสังสารโลกสุขอิศวรโพธิสัตว์ รวมเป็น 9 พระองค์(หรือ “เก้าอ๊อง”)ทรงตั้งปณิธานจักโปรดสัตว์โลก จึงได้แบ่งกายมาเป็นเทพเจ้า 9 พระองค์ด้วยกันคือ ไต้อวยเอี๊ยงเม้งทัมหลังไทแชกุน ไต้เจียกอิมเจ็งกื้อมึ้งงวนแชกุน ไต้กวนจิงหยิ้งลุกช้งเจงแชกุน ไต้ฮั่งเฮี่ยงเม้งม่งเคียกนิวแชกุน ไต้ปิ๊กตังง้วนเนี้ยบเจงกังแชกุน ไต้โพ้วปั๊กเก๊กบู๊เอียกกี่แชกุน ไต้เพียวเทียนกวนพัวกุงกวนแชกุน ไต้ตั่งเม้งงั่วคูแชกุน ฮุ้ยกวงไตเพียกแชกุน เทพเจ้าทั้ง 9 พระองค์ ทรงอำนาจตบะอันเรืองฤทธิ์บริหารธาติดิน น้ำ ลม ไฟ และทอง ทั่วทุกพิภพน้อยใหญ่สารทิศ

__ตำนานที่ 4
กินเจเพื่อเป็นการบูชากษัตริย์เป๊ง “กษัตริย์เป๊ง” เป็นกษัตริย์องค์สุดท้ายของราชวงศ์ซ้องซึ่งสิ้นพระชนม์โดยทรงทำอัตวินิบาตกรรม (การฆ่าตัวตาย) ในขณะที่เสด็จไต้หวันโดยทางเรือ เมื่อมีพระชนนมายุได้ 9 พรรษา พิธีบูชาเพื่อระลึกถึงราชวงศ์ซ้องนี้ มีแต่เฉพาะในมณฑลฮกเกี้ยนซึ่งเป็นดินแดนผืนสุดท้ายของราชวงศ์ซ้องเท่านั้น โดยชาวฮกเกี้ยนได้จัดทำพิธีดังกล่าวนี้ขึ้นด้วยการอาศัยศาสนาบังหน้าการเมือง การที่เผยแผ่มาสู่เมืองไทยได้นั้นเพราะชาวจีนจากฮกเกี้ยนนำมาเผยแผ่

__ตำนานที่ 5
1500 ปีมาแล้ว มณฑลกังไสเป็นดินแดนที่เจริญรุ่งเรืองมาก ฮ่องเต้เมืองนี้มีพระราชโอรส 9 พระองค์ซึ่งเป็นเลิศทั้งบุ๋นและบู๊จึงทำให้หัวเมืองต่างๆ ยอมสวามิภักดิ์ ยกเว้นแคว้นก่งเลี้ยดที่มีอำนาจเข้มแข็งและมีกองกำลังทหารที่เหนือกว่า ทั้งสองแคว้นทำศึกกันมาถึงครั้งที่ 4 แคว้นก่งเลี้ยดชนะโดยการทุ่มกองกำลังทหารที่มีทั้งหมดที่มากกว่าหลายเท่าตัวโอบล้อมกองทัพพระราชโอรสทั้งเก้าไว้ทุกด้าน แต่กองทัพก่งเลี้ยดไม่สามารถบุกเข้าเมืองได้จึงถอยทัพกลับ
จนวันหนึ่งชาวกังไสเกิดความแตกสามัคคีและเอาเปรียบกัน เทพยดาทราบว่าอีกไม่นานกังไสจะเกิดภัยพิบัติจึงหาผู้อาสาช่วยแต่ชาวบ้านจะพ้นภัยได้ก็ต่อเมื่อได้สร้างผลบุญของตนเอง ดวงวิญญาณพระราชโอรสองค์โตรับอาสาและเพ่งญาณเห็นว่าควรเริ่มที่บ้านเศรษฐีใจบุญ ลีฮั้วก่าย
คืนวันหนึ่งคนรับใช้แจ้งเศรษฐีลีฮั้วก่ายว่ามีขอทานโรคเรื้อนมาขอพบเศรษฐีจึงมอบเงินจำนวนหนึ่งให้เป็นค่าเดินทาง แต่ขอทานไม่ไปและประกาศให้ชาวเมืองถือศีลกินเจเป็นเวลา 9 วัน 9 คืนผู้ใดทำตามภัยพิบัติจะหายไป เศรษฐีนำมาปฏิบัติก่อนและผู้อื่นจึงปฏิบัติตามจนมีการจัดให้มีอุปรากรเป็นมหรสพในช่วงกินเจด้วย เล่าเอี๋ยเกิดศรัทธาประเพณีกินเจของมณฑลกังไสจึงได้ศึกษาตำราการกินเจของเศรษฐีลีฮั้วก่ายที่บันทึกไว้ แต่ได้ดัดแปลงพิธีกรรมบางอย่างให้รัดกุมยิ่งขึ้นและให้มีพิธีเชี้ยยกอ๋องส่องเต้ (พิธีเชิญเง็กเซียนฮ่องเต้มาเป็นประธานในพิธี)

__ตำนานที่ 6
ชายขี้เมานามว่า เล่าเซ็ง เข้าใจผิดคิดว่าแม่ตนตายไปเพราะเป็นโรคขาดสารอาหาร จนคืนหนึ่งแม่ได้มาเข้าฝันบอกว่า แม่ตายไปได้รับความสุขมากเพราะแม่กินแต่อาหารเจและตอนนี้แม่อยู่บนเขาโพถ้อซัว ตั้งอยู่บนเกาะน่ำไฮ้ ในมณฑลจิ๊ดเจียงถ้าลูกอยากพบแม่ให้ไปที่นั่น ครั้นถึงเทศกาลไหว้พระโพธิสัตว์กวนอิมที่เขาโพถ้อซัว เล่าเซ็งอยากไปแต่ไปไม่ถูกจึงตามเพื่อนบ้านที่จะไปไหว้พระโพธิสัตว์ เพื่อนบ้านเห็นเล่าเซ็งสัญญาว่าจะไม่กินเหล้าและเนื้อสัตว์จึงให้ไปด้วย ระหว่างทางเดินสวนกับคนขายเนื้อเล่าเซ็งลืมสัญญาที่ให้ไว้เพื่อนบ้านก็หนีไป โชคดีที่มีหญิงสาวคนหนึ่งเดินผ่านมาและต้องการไปไหว้พระโพธิสัตว์เล่าเซ็งจึงขอตามนางไป เมื่อถึงเขาโพถ้อซัวขณะที่เล่าเซ็งก้มลงกราบไหว้พระโพธิสัตว์นั้น เขาเห็นแม่ลอยอยู่เหนือกระถางธูปที่คนอื่นมองไม่เห็น ขณะเดินทางกลับเขาได้แยกทางกับหญิงสาวและได้พบเด็กชายคนหนึ่งยืนร้องไห้อยู่จึงเข้าไปถามไถ่ได้ความว่าเป็นลูกของเขากับภรรยาที่เลิกกันไปนานแล้ว เขาจึงพาไปอยู่ด้วยแล้ววันหนึ่งหญิงสาวที่นำทางไปเขาโพถ้อซัวมาขออาศัยอยู่ด้วย ทั้งสามอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข หญิงสาวผู้นั้นเป็นสาวบริสุทธิ์ประพฤติตนเป็นคนดีอยู่ในศีลธรรมและถือศีลกินเจอยู่เนืองนิตย์ นางรู้ว่าใกล้ถึงวันตายของนางแล้วจึงบอกเล่าเซ็ง เมื่อถึงวันนั้นนางอาบน้ำแต่งตัวด้วยอาภรณ์ที่ขาวสะอาดแล้วนั่งสักครู่ก็สิ้นลม เล่าเซ็งเห็นการจากไปด้วยดีของนางคล้ายกับแม่จึงเกิดศรัทธายกสมบัติให้ลูกชายแล้วประพฤติตนใหม่ เมื่อตายไปจะได้บังเกิดผลเช่นเดียวกับแม่และหญิงสาวและประเพณีกินเจจึงเริ่มขึ้น

อ้างอิง>>เทศการกินเจ

แต่ในทางประวัติศาสตร์ที่มีบันทึกไว้ในประเทศจีนการกินเจของพระสงฆ์ได้เริ่มขึ้นเมื่อปี พ.ศ.1055 ในสมัยพระเจ้าบู่ตี่ ซึ่งสาเหตุที่พระสงฆ์ยุคนั้นเริ่มฉันเจก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเหตุผลทางศาสนาแต่เป็นเพราะว่า พระเจ้าบู่ตี่ ทรงเสวยเจซึ่งสมัยนั้นกษัตริย์ก็มีอิทธิพลต่อพระศาสนามาทุกยุคสมัย เมื่อพระเจ้าบู่ตี่ทรงเสวยเจจึงได้ขอร้องให้พระสงฆ์เลิกฉันเนื้อสัตว์ทำให้เกิดประเพณีพระสงฆ์จีนถือมังสวิรัติจนถึงทุกวันนี้ แต่ทว่าพระเจ้าบู่ตี่ก็เป็นกษัตริย์ที่นับถือพุทธศาสนาอย่างแรงกล้านะครับและได้ทำนุบำรุงพุทธศาสนาให้รุ่งเรื่องอย่างมากในสมัยนั้น
-----------------------------------------------
ภาพบน^^เนื้อปลอม ๆ ที่เหล่านักทานเจพยายามที่จะทำเลียนแบบเนื้อสัตว์ให้ได้

__กินเจกับเนื้อปลอม ๆ__ 
   ตอนนี้เปลี่ยนบรรยากาศมาแนะนำอาหารกันสักหน่อย ด้วยว่าเห็นคนกินเจบางกลุ่มโดยเฉพาะลัทธิอนุตตรธรรมก็ถือเคร่งกันเหลือเกินแต่ก็เห็นมีแต่เนื้อปลอม ๆ ซึ่งก็น่าฉงนจิตนิดหน่อยว่าหากแม้นว่าไม่อยากจะทานเนื้อสัตว์ตัดแล้วซึ่งรสชาติ ก็แล้วเหตุใดยังต้องหาเนื้อปลอม ๆ เสกสรรปั้นแต่งขึ้นมาหลอกตาหลอกใจกันเล่า แล้วเนื้อปลอมเหล่านี้เผลอ ๆ อาจจะมีภัยร้ายอันตรายกว่าเนื้อจริง ๆ นะคราบ


---------------------------------------------------------

ภาพบน^^ภาพที่สาวกลัทธิได้ทำขึ้นมาและเผยแพร่กันทั่วไป

ข้อความจากภาพบน^^หมายความว่าอย่างไร ??
นี่ล่ะพวกสาวกที่บอกว่าตัวเองยังเคารพพุทธศาสนา แต่ในความจริงกลับเผยแผ่แต่สิ่งที่ปรามาศลบหลุ่พระรัตนตรัยทั้งสิ้น 
ข้อความแบบนี้ก็เท่ากับด่าพระสงฆ์ที่ไม่กินเจว่าไม่ดีเหมือนคนในลัทธิอนุตตรธรรมอย่างนั้นหรือ ??

เอารูปพระพุทธเจ้าโชว์หราแบบนี้ก็ตั้งใจด่าว่าพระพุทธเจ้าศีลไม่บริษสุทธิอย่างนั้นหรือ ?? 

ข้อความนี้ด่าพระภิกษุทั่วโลกไปในตัวใช่หรือไม่ ??

ข้อความนี้ยกเอาพวกสาวกลัทธิอนุตตรธรรมมาข่มพระภิกษุไปในตัว
ใช่หรือไม่ ??

ข้อความนี้ต้องการอวดอ้างว่าคนกินเจในลัทธิอนุตตรธรรม 
ดีเลิศกว่าพระสงฆ์ใช่หรือไม่ ??

พระสงฆ์ท่านก็ถือศีลบริสุทธิกันมาเป็นพัน ๆ ปีแล้วเหตุใดคนบาปพวกนี้ถึงจะกล้ามาสร้างศีลให้พระ ??

ไอ้คนในลัทธิที่มันจะมาสร้างศีลให้พระนั่นน่ะ มันดีแค่ใหนกัน ถึงได้กล้าปรามาศสงฆ์ แล้วยกตัวเองขึ้นมาข่มหมู่สงฆ์ทั้งหลายเช่นนี้
ปรัชญาสวย ๆ ของลัทธินี้ยังไงก็ไม่วายที่จะโจมตีพระสงฆ์ไปในตัว


แล้วคนที่เขาเอาหารไปไส่บาตรพระ ถ้าไม่ใช่อาหารเจก็หมายถึงเป็นบาบเป็นกรรมงั้นหรือ งั้นจะทำไงถ้าไปไส่บาตที่วัดแล้วเป็นบาปเป็นกรรมอย่างเขาว่า จะไปที่ใหนล่ะตกลงจะให้ไปสถานธรรมของพวกเขาที่กินเจอย่างเดียวถึงจะได้บุญใช่ใหม ??
ประเพณีไทยไม่เคยเกิดความสับสนและแตกแยกทางความคิดแบบนี้มาก่อนจนเมื่อลัทธินี้เข้ามาในเมืองไทยก็เผยแผ่ปลุกปั่นต่าง ๆ นา ๆให้คนไทยเกิดการทะเลาะกันเองแม้แต่สถาบันอันสูงส่งของประเทศไทยพวกนี้ก็ไม่วายที่จะโจมตีให้เสียหาย

พระภิกษุต่างก็เป็นที่พึ่งพิงให้เหล่าประชาชนเสมอมาตั้งหลายปีดีดัก แล้วเหตุใดอยู่มาวันหนึ่งเมื่อลัทธินี้เข้ามากลับจะมาพูดว่า จะมาสร้างศีลให้พระ 
คนบาปพวกนี้น่ะหรือที่ต้องการจะมาสร้างศีลให้พระสงฆ์ไทย ???
คนบาปพวกนี้น่ะหรือที่จะมาตรวจสอบพระสงฆ์ไทย ??


พวกนี้ปากบอกว่ากินเจแต่ก็ทำแต่เรื่องลบหลู่ปรามาศพระรัตนตรัยมาตลอดแต่ละข้อความก็ล้วนแต่ยกเอาลัทธิตัวเองขึ้นมาข่มศาสนาอื่น ๆ และข่มพระภิกษุตลอดเวลา รวมทั้งทำสื่อโจมตีพุทธศาสนามาตลอด สรุปสุดท้ายก็แค่อยากจะอวดโอ้ว่าคนกินเจเท่านั้นที่ศีลบริสุทธิดีเลิศวิเศษยิ่งกว่าพระสงฆ์องค์เจ้าซะแล้ว คำพูดปรัชญาสวยงามที่ลัทธินี้แต่งขึ้นมาถึงแม้จะสวยงามเพียงไรแต่ก็ล้วนแฝงไว้ด้วยการโจมตีพระพุทธศาสนาตลอดมา

วันนี้เขาทำตัวว่าจะมาตรวจสอบพระสงฆ์ มาสร้างพระสงฆ์ จนเสมือนประหนึ่งว่าสงฆ์ไทยเลวทรามกระนั้นหรือจึงต้องให้ลัทธิพวกนี้มาสร้างมาตรวจสอบ

วันนี้เมื่อเขาต้องการจะแทรกแซงสถาบันศาสนา วันข้างหน้าก็อาจมิวายจะลุกลามไปยังสถาบันอื่น ๆ ได้เช่นกัน

-------------------------------------------------------------

 นับตั้งแต่สมัยราชวงศ์ซ่ง  (พ.ศ. 1503) เป็นต้นมา ลัทธิที่แอบอ้างศาสนาก็มีเพิ่มมากขึ้นเรื่อย  ๆ (ความจริงก็มีมาก่อนหน้านี้นานแล้ว) จนพัฒนามาเป็นลัทธิต่าง ๆ ในสมัยราชวงศ์หมิง (พ.ศ.1911) ลัทธิพวกนี้ถูกเรียกรวม ๆ กันว่า “ลัทธิเจ”


“ลัทธิเจ” เกิดจากการผสมผสานความเชื่อของ 3 ศาสนาคือ พุทธ , เต๋า , และขงจื่อ เข้าไว้ด้วยกัน นอกจากนี้ยังมีลักษณะความเชื่ออื่น ๆ เข้าประกอบ ลักษณะเด่นของลัทธิเจคือ มีการนับถือพระพุทธเจ้า , พระโพธิสัตว์ในพระพุทธศาสนา และนับถือเทพเจ้าในศาสนาเต๋าและขงจื่อ  นอกจากนี้ยังบริโภคอาหารมังสะวิรัติจนเป็นที่มาของการเรียกการบริโภคอาหารมังสะวิรัติตามชื่อของลัทธิพวกนี้ว่า “ การกินเจ”  ซึ่งในความเป็นจริงนั้นความหมายของคำว่า เจ ของลัทธิ ก็ไม่ได้มีความหมายเหมือนกับ ในศาสนาเต๋า และไม่ใช่คำสอนของศาสนาพุทธมหายานแต่อย่างใด



เอกลักษณ์ที่สำคัญของลัทธิเจอีกอย่างหนึ่งคือ “ไม่มีนักบวช” ลัทธิเจไม่มีนักบวช จะมีก็แต่คนที่ทำหน้าที่ประกอบพิธีกรรมแต่ไม่ใช่นักบวชซึ่งก็มีทั้งนุ่งขาวห่มขาว และไม่นุ่งขาวห่มขาว ตามแต่ลัทธิจะบัญญัติ  และด้วยเหตุที่ลัทธิเจไม่มีนักบวชจึงไม่เคารพพระภิกษุในพุทธศาสนา และไม่เคารพนักพรตเต๋าในศาสนาเต๋า ขณะเดียวกันก็มีคำสอนจำนวนไม่น้อยที่โจมตีพระภิกษุในพุทธศาสนาและนักพรตในศาสนาเต๋า  นอกจากนี้ยังมีการนำเอาคำสอนของศาสนาทั้ง 3 คือ พุทธ ,เต๋า , ขงจื่อ มาดัดแปลง แต่งเติม แก้ใขในรูปแบบของตัวเอง


นับแต่ราชงวศ์หมิงสถาปนาขึ้นในปี พ.ศ. 1911 หมิงไท่จู่ฮ่องเต้ (จูเหยวียนจาง) เล็งเห็นถึงความวุ่นวายเมื่อครั้งประเทศจีนอยู่ภายใต้การปกครองของเหยวียน(มองโกล) มีลัทธิเกิดขึ้นมากมายแต่ละลัทธิต่างก็ใช้ความเชื่อชักจูงผู้คนเพื่อสร้างฐานอำนาจให้กับตนเอง  จูเหยวียนจาง ตระหนักดีว่า หากสภาพการณ์ดังนี้ดำเนินต่อไปจะเป็นภัยต่อความมั่นคงของราชบัลลังแห่งราชวงศ์หมิง  อีกประการหนึ่ง  จูเหยวียนจาง และบรรดากษัตริย์ราชวงศ์หมิงต่างก็ศรัทธาศาสนาเต๋าการที่จะให้มีลัทธิมาบ่อนทำลายความมั่นคงของราชวงศ์และศาสนาเต๋าอันเป็นศาสนาแห่งราชวงศ์ย่อมเป็นไปไม่ได้ (ในนิยายจีนเรื่อง “กระบี่อิงฟ้าดาบฆ่ามังกร” ซึ่งประพันธ์โดยกิมย้ง กล่าวว่า จูเหยวียนจาง เป็นสมาชิกของลัทธิแสงธรรมนั่นเป็นเรื่องที่แต่งขึ้นไม่ใช่เรื่องจริงแต่อย่างใด)  ด้วยเหตุนี้ จูเหยวียนจาง จึงมีคำสั่งควบคุมกิจกรรมของลัทธิต่าง ๆ  เหล่านี้ โดยเริ่มที่ลัทธิบัวขาวเป็นอันดับแรก (ในขณะนั้นลัทธิบัวขาวได้รวมกับลัทธิแสงธรรมแล้ว) ตามด้วยลัทธิอื่น ๆ ทำให้ลัทธิเจเหล่านี้กลายเป็นลัทธินอกกฎหมาย  และเพื่อความอยู่รอดลัทธิเหล่านี้จึงปรับตัวเองให้เป็นลัทธิใต้ดินเพื่อให้รอดพ้นจากอำนาจของทางการ  ต่อมาได้เผยแพร่ไปในวงกว้างในหมู่ประชาชนโดยลัทธิเจที่สืบทอดมาจนถึงปัจจุบันก็มีอาทิเช่น  ลัทธิเจในประเทศไทยและใกล้เคียง  ลัทธินาคปุษปะ ,ลัทธิอนุตตรธรรม ,ลัทธิเมตไตรยมหามรรค  ฯลฯ

ซึ่งก็ต้องทำความเข้าใจคือคำว่า  “ลัทธิเจ” เป็นคำรวม ๆ ที่ใช้เรียกลัทธิที่แอบอ้างศาสนาในหน้าประวัติศาสตร์จีน  ในความจริงลัทธิเจมีหลายลัทธิ  มีทั้งความเชื่อ ศรัทธา และที่มาที่ เหมือน คล้าย และแตกต่างกัน  แต่มีจุดร่วมกันอย่างหนึ่งคือการกินมังสะวิรัติ หรือที่เรียการกินอาหารตามชื่อของลัทธิพวกนี้ว่า  การกินเจ...

ที่มา >http://www.yokipedia.com/vegetarian/120-2010-09-09-17-56-06


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น